‘HIA’ แก้ปัญหา ‘ท้องถิ่น’ ได้จริง ‘กรมอนามัย’ พร้อมขยายผล สร้าง ‘เมืองสุขภาพดี’ 1,000 แห่ง ในปี 2570

เวที HIA FORUM ประจำปี 2567 สะท้อนผลลัพธ์การใช้ HIA แก้ปัญหาท้องถิ่น ขณะที่ ‘กรมอนามัย’ จ่อใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบสุขภาพ หนุนสร้าง ‘เมืองสุขภาพดี’ ให้ได้ 1,000 แห่ง ภายในปี 2570 ขณะที่อาจารย์ ม.อ. แนะ ทีมวิชาการต้องตีโจทย์ความต้องการของผู้บริหารท้องถิ่นให้แตก ก่อนจัดกระบวนการสนับสนุน

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA” ระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค. 2567 โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง “การประยุกต์ใช้ HIA ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี” เพื่อนำเสนอระบบสนับสนุนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) และแนวทางการขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบใน อปท. ในระดับเทศบาลตำบล และเทศบาลนคร

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จ.ยะลา กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พบว่า ในพื้นที่ จ.ยะลา มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นอย่างมาก เพราะ จ.ยะลา ไม่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าด้วยตนเอง สินค้าที่ประชาชนบริโภคส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างพื้นที่เกือบทั้งหมด จึงกังวลว่าหากเกิดวิกฤติการณ์ซ้ำจนต้องมีมาตรการปิดเมืองอีกครั้ง จะนำมาซึ่งปัญหาความมั่นคงทางอาหารในระดับที่รุนแรง

มากไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่ในพื้นที่มีระดับไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของชาวยะลาในวันข้างหน้า รวมไปถึงปัญหาของประชาชนในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงนำมาสู่การค้นหามาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายวิชาการ HIA (HIA Consortium) ในภูมิภาค เพื่อร่วมกันประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ที่จะนำไปสู่การหาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหา

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า กระบวนการเริ่มต้นจากการกลั่นกรองและกำหนดขอบเขตนโยบายร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ต้องการที่จะจัดการระบบอาหารตลอดห่วงโซ่ กล่าวคือมีความมั่นคงทางอาหาร มีความปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดี โดยเริ่มต้นจากการใช้เครื่องมือแบบสำรวจและแบบประเมิน เพื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดปัญหาในพื้นที่

ทั้งนี้ สามารถแบ่งการดำเนินงานออกมาเป็น 3 กระบวนการ คือ ต้นน้ำ ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลแบบสำรวจความมั่นคงทางอาหารและความรอบรู้ด้านอาหารของประชาชน กลางน้ำ คือ แบบประเมินอาหารที่มีความปลอดภัยในกลุ่มผู้ประกอบการแผงลอย โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และปลายน้ำ คือ แบบประเมินความรอบรู้ด้านอาหารปลอดภัยของแม่ครัวในโรงเรียน และร้านแผงลอยต่างๆ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลในแต่ละกระบวนการ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การวิเคราะห์ และนำมาสู่การออกแบบ จนกลายเป็นแผนการเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารโดยกลไกเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีพื้นที่ทดลองในการนำร่องการดำเนินการ เมื่อดำเนินการสำเร็จ ก็จะเกิดระบบการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยของอาหารที่สามารถปรับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ของเทศบาลนครยะลาต่อไป

นายจรูญ คำปันนา นายกเทศมนตรีตำบลศรีบัวบาน จ.ลำพูน  กล่าวว่า ท่ามกลางความเจริญของเมืองที่ค่อยๆ รุกคืบจาก จ.เชียงใหม่ เข้ามายัง ต.ศรีบัวบานซึ่งเป็นพื้นที่ชนบท ประชากรจาก 12 หมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มากไปกว่านั้น ในแต่ละชุมชนมีบริบททางประวัติศาสตร์ จากการตั้งรกรากในพื้นที่มาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี ทำให้มีมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สวยงาม เหมาะแก่การเรียนรู้และเยี่ยมชม สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ท่ามกลางต้นทุนในชุมชนที่มีอยู่ จะสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพื่อที่จะรองรับความเจริญที่กำลังค่อยๆ เข้ามาได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีการจัดเวทีการเสวนา ซึ่งเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล  และมีการนำกระบวนการ HIA มาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งดำเนินการร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นำมาสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดกิจกรรม “Sribuaban Open House” เปิดบ้านท่องเที่ยวศรีบัวบาน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่จะสามารถต่อยอดสู่การสร้างรายได้แก่ชุมชนต่อไปในอนาคต

น.ส.นัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีบทบาทในการสนับสนุนการนำกระบวนการ HIA ไปพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมของ อปท. หรือที่เรียกว่า EHA 8000 ซึ่งเป็นรูปแบบของความสมัครใจไม่ใช่ภาคบังคับ อปท.มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจว่า มีความประสงค์จะนำแนวทางเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับบริบทการดำเนินงานของตนหรือไม่

น.ส.นัยนา กล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการใช้ HIA สำหรับ อปท. จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำข้อกำหนดของท้องถิ่น รวมไปถึงการใช้ความเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจอนุมัติ และอนุญาตในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการในชุมชน รวมไปถึงการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน ในการปรับปรุงนโยบาย โครงการ เพื่อการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กรมอนามัยกำลังขับเคลื่อนวาระที่สำคัญคือ การขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี (Healthy Cities) โดยเป็นการพัฒนาเมืองให้มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของชุมชน โดยมีเกณฑ์มาตรฐานเมืองสุขภาพดีที่ใช้ในการประเมินทั้งหมด 3 องค์ประกอบ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ (Healthy Environments) สถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy Settings) และ ประชาชนรอบรู้และสุขภาพดี (Healthy People) โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมีเมืองสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการใช้กลไก HIA มาสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีนี้ ซึ่งจะมีการพัฒนาศักยภาพศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อที่จะเป็นทีมพี่เลี้ยงให้กับ อปท. ที่มีความพร้อมในการพัฒนาและสนใจเข้าร่วมโครงการ

“สุดท้ายแล้วเราจะสนับสนุนให้ทุก อปท. สามารถเอา HIA ไปใช้ได้ โดยที่จริงๆ แล้ว อปท.อาจจะใช้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่รู้ตัวว่าตนใช้หลัก HIA ในการทำงานอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้ครบในทุกกระบวนการ ซึ่งเราจะเริ่มทำการอบรมในเดือน ต.ค. หลังจากที่เราได้รับงบประมาณจาก WHO และจะเลือกเมืองต้นแบบมาพัฒนาต่อไป” น.ส.นัยนา กล่าว

ดร.เพ็ญ สุขมาก สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า การดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สช. และ HIA Consortium ที่ครอบคลุมทั่วทั้ง 6 ภูมิภาค ของประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนบทบาทและกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงาน HIA ด้วย 3 ภารกิจที่สำคัญคือ 1. การพัฒนากำลังคน ผ่านการบรรจุหลักสูตร HIA ในสถาบันการศึกษาต่างๆ การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย และการสร้างกลไกพี่เลี้ยง HIA ในระดับพื้นที่ 2. การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้าน HIA อาทิ การพัฒนาเครื่องมือและแนวทางของ HIA ให้ภาคีเครือข่าย หรือ อปท. ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเข้าใจง่าย 3. การบริการวิชาการ หรือพันธกิจเพื่อสังคม ผ่านการขับเคลื่อนชุมชน ท้องถิ่น โดยใช้ HIA เป็นเครื่องมือ

ดร.เพ็ญ กล่าวต่อไปว่า บทบาทและกลไกในการขับเคลื่อนทั้ง 3 ภารกิจที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ได้มีลักษณะการดำเนินงานที่แยกขาดจากกัน หากแต่ต้องบูรณาการ และยึดโยงให้สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ ภายใต้ความเหมาะสมกับบริบท และสถานการณ์ของพื้นที่เป็นหลัก

“HIA ฟังแล้วมันจะดูยาก อปท.อาจจะรู้สึกสับสน ฉะนั้นทีมวิชาการเวลาลงไปทำกระบวนการ ควรให้ความสำคัญกับท่าทีและวิธีการสื่อสารที่ทำให้ท้องถิ่นรู้สึกว่าง่ายที่จะร่วมมือ ต่อมาคือเราต้องรู้โจทย์ว่าผู้บริหารท้องถิ่นให้ความสำคัญกับอะไร มันจะทำให้การพูดคุยกันครั้งแรกเป็นไปอย่างราบรื่น อีกสิ่งที่สำคัญคือทีมวิชาการไม่ควรมุ่งเน้นกับการเร่งรีบที่จะได้รับการตีพิมพ์งานวิชาการ รีบทำกระบวนการจนพื้นที่ไม่อินด้วย มันก็จะทำงานไม่สนุก ผลงานอาจได้ระดับดีเยี่ยม แต่พื้นที่อาจจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้อะไร” ดร.เพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย