อิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” ที่พัดผ่านเข้าสู่ภาคอีสาน ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยในพื้นที่ของสำนักงานชลประทานที่ 7 ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และนครพนม ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคอีสานฝั่งตะวันออก ในเขตของสำนักงานชลประทานที่ 7 ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และนครพนม ต่างได้รับผลกระทบพายุโซนร้อน “โพดุล” เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ทุกแห่ง เร่งเข้าไปสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วนแล้ว ดังนี้
จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในพื้นที่รับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสกลนครด้วย ได้แก่ บริเวณบ้านโนนกุง ต.เชียงสือ อ.โพนนาแก้ว พื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่ , บ้านปู้พึ้ม ต.บ้านโพน อ.โพนนาแก้ว พื้นที่ประมาณ 600 ไร่ และในเขตจังหวัดนครพนม ได้แก่ บริเวณบ้านต้นแหน ,บ้านนาคู่ ,บ้านแขนนาง ,บ้านห้วยวาน ต.นาแก อ.นาแก พื้นที่ประมาณ 2,798 ไร่ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ท่วมขังระบายลงลำน้ำก่ำและลำน้ำสาขาได้ช้า เนื่องจากระดับน้ำในลำน้ำก่ำสูงขึ้น จนเอ่อล้นลำห้วยเข้าท่วมทางสัญจร พื้นที่ชุมชน และนาข้าว โครงการฯน้ำก่ำ ได้ขุดเปิดทางน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 4 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่การเกษตร บริเวณบ้านต้นแหน ต.นาคู่ อ.นาแก ประมาณ 400 ไร่
นอกจากนี้ ยังได้เสริมกระสอบทรายป้องกันน้ำไหลล้นคันกั้นน้ำ บริเวณบ้านปูพึ้ม ต.บ้านโพน อ.โพนนาแก้ว บ้านโนนกุง ต.เชียงสือ อ.โพนนาแก้ว และบ้านบึงแดง ต.โคกก่อง อ.เมืองสกลนคร ทางโครงการชลประทานสกลนคร ได้ส่งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่อง ติดตั้งที่บริเวณสะพานบ้านด่านม่วงคำ ต.ด่านม่วงคำ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร เพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำก่ำลงสู่พื้นที่ทางด้านท้ายน้ำ
จังหวัดมุกดาหาร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ถนนถูกตัดขาดและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ 7 อำเภอ รวมไปถึงพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร โครงการชลประทานมุกดาหาร ได้ประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองแต่อำเภอ รวมทั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยโครงการชลประทานมุกดาหาร ได้ส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง ติดตั้งในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร และ บริเวณบ้านนากอก ต.นากอก อ.นิคมคำสร้อย อีก 1 เครื่อง
จังหวัดอำนาจเจริญ ฝนที่ตกหนักส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำเซบายและลำห้วยสาขา ได้แก่ ห้วยละโอง ,ห้วยนาหมอม้า ,ห้วยไผ่ ,ห้วยสะแบก และห้วยปลาแดก มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำพื้นที่การเกษตรประมาณ 3,468 ไร่ เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ประกอบกับพนังกั้นน้ำลำเซบายขาด ในช่วง กม.ที่ 18+100 ความยาวประมาณ 10-20 เมตร ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 50 เซนติเมตร อยู่ระหว่างเร่งสำรวจความเสียหาย โครงการชลประทานอำนาจเจริญ ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ติดตั้งที่บริเวณหลังตลาด ในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญแล้ว
จังหวัดยโสธร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ระบายน้ำไม่ทันดังนี้ อ.กุดชุม 4,578 ไร่ , อ.ป่าติ้ว 14,533 ไร่ , อ.คำเขื่อนแก้ว 5,167 ไร่ , อ.ไทยเจริญ 6,816 ไร่ และ อ.เลิงนกทา 3,196 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 34,290 ไร่ โครงการชลประทานยโสธร ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง ติดตั้งที่บ้านกลางสระเกษ ต.โพธิ์ไทร อ.ป่าติ้ว เพื่อเร่งระบายน้ำแล้ว
จังหวัดอุบลราชธานี ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ทางตอนบนของลำเซบาย ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร บริเวณบ้านป่าก่อ ต.หนองเหล่า อ.ม่วงสามสิบ และยังทำให้น้ำในลำเซบกเพิ่มสูงขึ้น จนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ ต.เหล่าบก และ ต.ดูมใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ และบริเวณบ้านยางกระเดา อำเภอดอนมดแดง และบ้านท่าบ่อแบง อำเภอตระการพืชผล นอกจากนี้ ระดับน้ำในลำเซบก ยังได้เอ่อล้นคันกั้นน้ำของโครงการเขื่อนลำเซบก เข้าไปท่วมขังพื้นที่การเกษตรของทั้งสองฝั่ง ประมาณ 500 ไร่ โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่เขื่อนลำเซบาย ต.ปะอาว อ.เมืองอุบลราชธานี จำนวน 6 เครื่อง (มีแผนขอเพิ่มเติมอีก 4 เครื่อง) และยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่เขื่อนธาตุน้อย ต.ธาตุน้อย อ.เขื่องในอีก 6 เครื่อง (มีแผนเพิ่มเติมอีก 6 เครื่อง) พร้อมกันนี้ ยังจะขอรับกรสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งที่สะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งระบายน้ำข้ามแก่งสะพืออีกด้วย