ชป.ทั่วประเทศเข้าช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมจากอิทธิพลของ “โพดุล”

จากอิทธิพลของพายุโพดุล ที่เคลื่อนตัวเข้าทางภาคอีสานของประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมพร้อมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ เข้าไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พบว่ามี 12 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร สระแก้ว ชุมพร และระนอง ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศนำเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวแล้ว อาทิ จังหวัดยโสธร สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำจากลำน้ำเซบายที่ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตร จังหวัดพิษณุโลก โครงการชลประทานพิษณุโลก ได้สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ตำบลบ้านมุง และตำบลวังยาง อำเภอเนินมะปราง บ้านกุดสำโรง ตำบลศรีฐาน, ชุมชนบ้านโพธิ์ไทร ตำบลโพไทร และบ้านแซงซ่ง ตำบลเซียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด โครงการชลประทานร้อยเอ็ด สนับสนุนเครื่องสูบน้ำรวมจำนวน 15 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 8 เครื่อง รถแบ็คโฮจำนวน 2 คัน และสนับสนุนกระสอบทรายกว่า 2,000 ใบ ในพื้นที่บ้านพรหมสว่าง ตำบลกุดสินคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง, บ้านหนองห้าง ตำบลภูแล่นช้าง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์, บ้านโนนเชียงหวาง บ้านหนองบุ่ง ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง, บ้านนาวี ตำบลศีวิลัย บ้านดงแจ้ง บ้านหนองจอก บ้านหนองผักตบ ต.เหล่าน้อย อ.เสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ที่จังหวัดอุดรธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณโรงเรียนบ้านหมากแข้ง และบริเวณสะพานคลองผันน้ำ อำเภอเมือง ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะ ทำให้คอสะพานฝั่งขวาชำรุด รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้  โครงการชลประทานอุดรธานี ได้นำรถแบ็คโฮ จำนวน 2 คัน เข้าดำเนินการเปิดทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลง อ่างเก็บน้ำหนองสำโรง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำได้ตลอดเวลา จังหวัดมุกดาหาร  สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้สนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่อำเภอคำชะอี อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอเมือง และอำเภอดอนตาล รวมพื้นที่ประมาณ 12,880 ไร่ จังหวัดสกลนคร โครงการชลประทานสกลนคร ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 4 เครื่อง บริเวณสะพานบ้านด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ เพื่อเร่งการระบายน้ำในลำน้ำก่ำลงสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ได้ทำการเรียงกระสอบทรายบริเวณพนังกั้นน้ำต่ำที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการไหลข้ามคันเข้าสู่พื้นที่การเกษตร บริเวณ อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสระแก้ว สามารถวัดปริมาณน้ำฝนได้ที่ 174.4 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีน้ำท่วมพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยกระบาก บริเวณสะพานคลองโป่งดาวเรือง สูงประมาณ 40 เซนติเมตร และในพื้นที่บ้านโป่งดาวเรือง ทางสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้จัดเจ้าหน้าที่คอยติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือไว้พร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบทางภาคใต้ อาทิ จังหวัดชุมพร โครงการชลประทานชุมพร ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 4 ชุด บริเวณตำบลวังไผ่ อำเภอเมืองชุมพร และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 4 ชุด บริเวณพื้นที่ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร และที่จังหวัดระนอง โครงการชลประทานระนอง ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง บริเวณพื้นที่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของชุมชนหน้าตลาด บ้านน้ำจืด ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี ที่ราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 100 หลังคาเรือน เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำให้ออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสานการณ์อย่างใกล้ชิด

ดร.ทองเปลวฯ กล่าวต่อ ว่ากรมชลประทานได้ประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ บรรเทาความเดือนร้อนให้ราษฎรที่กำลังเผชิญหน้ากับอุทกภัยในครั้งนี้ ทั้งนี้ ขอให้ราษฎรเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดความเสียหายในพื้นที่ชุมชน หากมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านได้ทันที หรือโทร.สายด่วน กรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

31 สิงหาคม 2562