“อนุกูล” ปลัด พม. ย้ำ “5 × 5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน

วันที่ 10 สิงหาคม 2567 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 1 เรื่อง “นวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

โดยมี พระพรหมวัชรธีราจารย์ ศ.ดร.อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อเป็นพื้นที่ให้นิสิต นักศึกษา และนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ได้นำเสนอ แลกเปลี่ยนผลงานวิชาการอย่างสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้เกิดการผลิตความรู้ใหม่ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผ่านบทความวิชาการ การเสวนาวิชาการ ตลอดจนสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ เพื่อการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมการประชุมและต่อสังคมโดยรวม

นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิการสังคม การพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการสร้างหุ้นส่วนทางสังคมในการพัฒนาสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ  เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่า เศรษฐกิจเติบโต เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับ Climate Change และเป้าหมายที่ 17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ซึ่งทุกเป้าหมายเกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. ที่จะต้องขับเคลื่อนการสร้าง “สวัสดิการโดยรัฐ” ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งในระยะสั้น คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชน และในระยะกลางจนถึงระยะยาว คือการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตประชากรของกระทรวง พม. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชน ทำให้มีการจัดทำนโยบาย 5 ด้าน ด้านละ 5 มาตรการ ซึ่งเรียกว่านโยบาย 5 × 5 ฝ่าวิกฤตประชากร ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การเสริมพลังวัยแรงงาน เช่น โครงการพัฒนาอาชีพออนไลน์ดิจิทัล Marketing  โครงการวัยทำงานสร้างตัวสร้างครอบครัวเข้มแข็ง มาตรการที่ 2 การเพิ่มคุณภาพและผลิตภัณฑ์ของเด็กและเยาวชน  เช่นโรงเรียนคุณธรรม  ศิลปะบำบัดเชิงความฝัน  หรือสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด มาตรการที่ 3 การสร้างพลังผู้สูงอายุเช่นโครงการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ การบริบาลคุ้มครองสิทธิ์ผู้สูงอายุในชุมชน และการปรับสภาพแวดล้อมในบ้านที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย มาตรการที่ 4 การเพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าคนพิกาา Upskill และ Reskill ทักษะด้านอาชีพและสร้างโอกาสมีงานทำ พัฒนาระบบบริการคนพิการแบบ One Stop Service รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลกลางคนพิการ โดยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อปท. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น และมาตรการที่ 5 การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เช่น โครงการเติมเต็มหลักประกันครอบครัวมั่นคง (ผลักดันข้อเสนอสวัสดิการครอบครัว) โครงการผู้มีรายได้ในเมืองและชนบท มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยอาศัยอาศัย และโครงการพัฒนาความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร เป็นต้น

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการขับเคลื่อนนโยบาย “การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 1. ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการสงเคราะห์ เป็นการพัฒนา เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ 2.การขับเคลื่อนนโยบายแบบมีส่วนร่วม 3.การมีคณะกรรมการและกองทุน เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย เช่น นโยบายคนพิการที่มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ 4. การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและประชาชนอย่างเพียงพอ ครอบคลุมและทั่วถึง 5. ยึดหลักการดำเนินการตามกฎหมาย (มีกฎหมายรองรับ)ระเบียบและหลักธรรมาภิบาล 6. การรับมือเตรียมการและมีชุดคำตอบสำหรับคนที่เห็นต่างในนโยบายนั้นๆ 7. การสร้างแนวร่วม การขับเคลื่อนนโยบายจากหลากหลายหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง 8. ความต่อเนื่องของนโยบายและแผนการพัฒนาสังคม ที่ขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 9. นโยบายการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน คือมุ่งให้กลุ่มเป้าหมายช่วยเหลือตนเองได้ และ 10. นโยบายการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ควรต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณในการจัดสวัสดิการให้ทั่วถึง

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #พัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน