วันที่ 9 สิงหาคม 2567 – นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดกิจกรรมจิตอาสา “สร้างฝายชะลอน้ำ 92 ฝาย 92 พรรษา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 ภายใต้โครงการจิตอาสา “อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ” ของกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะจิตอาสาของกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการฟื้นฟูป่าให้มีสภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของดินในป่าให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ให้ประชาชนในพื้นที่ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน รวมถึงให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพ ดังนั้น อก. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และบริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด (โรงงานวังศาลา) จัดกิจกรรมจิตอาสา “สร้างฝายชะลอน้ำ 92 ฝาย 92 พรรษา” เพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนดิน และช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าแห่งนี้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นไปตามที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางการอนุรักษ์ผืนป่า ที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่าไว้ว่า “ให้คงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ให้รักษาป่าที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ ไม่ให้ถูกทำลายต่อไป จัดให้มีการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายไป โดยให้มีทั้งไม้ป่าธรรมชาติและไม้ใช้สอย พื้นที่ทำกินของราษฎร ให้การช่วยเหลือด้านการเกษตร สามารถทำกินได้ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ”
“อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์รักษาผืนน้ำและผืนป่า เพื่อให้ทรัพยากรเกิดความยั่งยืน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นในอันที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบรมราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดังที่ได้พระราชทาน พระราชดำรัสไว้ว่า “สำหรับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บริเวณสองข้างลำห้วยนั้น จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่มีน้ำซับ ก็ควรสร้างฝายเล็ก ๆ กั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีน้ำจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะสำหรับการปลูก” ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้ประชาชนในพื้นที่ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่“ ปลัดฯณัฐพลกล่าว
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ อก. ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากจิตอาสาทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมสร้างฝายกว่า 200 คน โดยทางบริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด (โรงงานวังศาลา) ได้ร่วมส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำฝายในครั้งนี้ โดยในวันนี้จะสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวนรวม 27 ฝาย ประกอบด้วย ฝายเกเบี้ยน เป็นฝายที่มีความคงทน มีอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่าแบบหิน เพื่อช่วยลดความรุนแรงการไหลของน้ำในฤดูฝน ช่วยชะลอและกักเก็บน้ำบางส่วน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนดินด้านข้างลำธาร และฝายหินและฝายคอกหมู เป็นฝายที่สามารถทำได้ง่ายจากวัสดุในพื้นที่ที่มีอยู่ เช่น ก้อนหินในพื้นที่บริเวณนั้น เพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ไหลช้าลง ส่วนอีก 65 ฝายทางหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จะร่วมดำเนินการให้ครบถ้วน 92 ฝายต่อไป
“ผมมีความยินดี ขอชื่นชม และขอขอบคุณภาคีเครือข่ายหน่วยงานราชการ ประชาชน และผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทำความดีให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ซึ่งพวกเรามีความตั้งใจในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและผืนป่าอย่างแท้จริง” ปลัดฯ ณัฐพลกล่าวทิ้งท้าย