กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชูประโยชน์ของดอกมะลิ ที่มีสรรพคุณในยาไทย และเครื่องดื่ม กลิ่นหอมช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยให้ผ่อนคลาย จิตใจชุ่มชื่น แก้ร้อนในกระหายน้ำ เน้น ดอกมะลิที่ใช้ ต้องสะอาด และ ปลอดสารพิษ
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า 12 สิงหาคม เนื่องในวันแม่แห่งชาติ มักนิยมใช้ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอม มอบให้กับคุณแม่เพื่อแสดง ความรัก การเคารพบูชา และแสดงความกตัญญูกตเวทีแล้ว ดอกมะลิ ยังมีประโยชน์และใช้ในตำรับยาไทย เช่น 1.ยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีมะลิเป็นส่วนผสมหลักของตำรับ สรรพคุณ แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น สำหรับวิธีการรับประทาน ยาหอมเทพจิตร ปัจจุบันได้มีการผลิตในรูปแบบยาชนิดผง และชนิดเม็ดเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน โดยให้รับประทาน ในปริมาณ 1-1.4 กรัม รับประทานเมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ควรระวังในการใช้ยากับผู้ที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ และการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม และ ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด อีกทั้งยังมีการศึกษาเกี่ยวกับยาหอมเทพจิตรกับคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งพบว่า ตำรับยาหอมเทพจิตร ช่วยเพิ่มคุณภาพของการนอนหลับได้ 2.ยาประสะ จันทน์แดง บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน (ไข้พิษ) แก้ร้อนในกระหายน้ำ วิธีใช้ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เด็กอายุ 6 – 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 3 – 4 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก และผู้แพ้ เกสรดอกไม้ไม่ควรใช้ยานี้ หากใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ
ด้วยสรรพคุณมะลิ ที่มีกลิ่นหอมเย็น จึงช่วยผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด ปัจจุบันจึงมีการแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามหลากหลายชนิด เช่น สบู่ แชมพู ครีมทาผิว และยังนำมาใช้ทาง สุคนธบำบัด (การบำบัดด้วยกลิ่น) สปา เครื่องหอมต่าง ๆ เช่น เทียนอโรม่า น้ำหอม น้ำมันนวด เพื่อช่วยผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ช่วยปรับสภาพจิตใจและอารมณ์ให้ดีขึ้น
“นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ดอกมะลิ ยังนิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มและอาหารที่ช่วยคลายร้อน ช่วยให้ร่างกาย สดชื่น ผ่อนคลาย แก้อาการอ่อนเพลีย เช่น ชาดอกมะลิ น้ำลอยดอกมะลิ ข้าวแช่ ขนมวุ้นดอกมะลิ ชาเบญจเกสร (เกสร 5 ชนิด ได้แก่ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ และเกสรบัวหลวง) ซึ่งมีสรรพคุณ รสหอมเย็น ช่วยผ่อนคลาย ช่วยบำรุงหัวใจ ทั้งนี้การจะนำดอกมะลิมาใช้เป็นส่วนประกอบ ในชา หรืออาหารเพื่อรับประทาน ไม่ควรใช้ในปริมาณที่สูงเกินไป เพราะกลิ่นที่แรง อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะได้ ที่สำคัญการนำดอกมะลิ มาทำอาหาร และ เครื่องดื่ม ควรใช้ดอกมะลิที่ปราศจากสารเคมี และสิ่งเจือปน ล้างให้สะอาด หากใช้ เป็นดอกที่ตากแห้งควรต้องตรวจสอบดูว่าเก็บรักษาอย่างดีไม่มีเชื้อรา ไม่มีสีที่เข้มคล้ำจนเกินไป หรือแมลงขนาดเล็กเจือปน เพื่อจะได้ประโยชน์และปลอดภัยอย่างแท้จริง” นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวทิ้งท้าย
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพร ในการรักษาโรคหรือบรรเทาอาการ สามารถปรึกษาแพทย์แผนไทยในสถานบริการสุขภาพของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อ โดยตรงที่ กรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM