กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งว่า ไฟป่ายังคงเป็นปัญหาใหญ่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ผลกระทบจากการเกิดไฟป่า นอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่ผืนป่าเป็นจำนวนมากแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในท้องที่ภาคเหนือ ได้สร้างความเสียหายด้านสุขภาพพลานามัยของประชาชนในพื้นที่ และยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายรายได้รับความเสียหาย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเกิดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นร่วมด้วยนั่นเอง
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “ภารกิจงานดับไฟป่าและแก้ปัญหาหมอกควันเป็นภารกิจงานที่สำคัญยิ่งในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ไฟป่าที่จะเกิดขึ้น ในการดำเนินงานด้านการควบคุมไฟป่าที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า ได้กำหนดมาตรการ 5 ประการเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน อันได้แก่ มาตรการการประชาสัมพันธ์ มาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน มาตรการการจัดการเชื้อเพลิง มาตรการการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า และมาตรการดับไฟป่า ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงแก้ไขมาตรการดังกล่าว ให้พร้อมรับมือ ทันต่อสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันอยู่เสมอ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้อนุมัติให้มีการจัดสัมมนาการควบคุมไฟป่า ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวย่างสำคัญสู่อนาคต ลดไฟป่าและหมอกควัน” ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ พิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตรการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาทางเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพื่อการป้องกันและเตือนภัยล่วงหน้า ลดความรุนแรงของปัญหาไฟป่าและหมอกควัน”
นายธัญญาฯ ยังกล่าวอีกว่า “เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดังนั้น ในการจัดสัมมนาการควบคุมไฟป่าฯ ครั้งนี้ จึงได้เชิญหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาทิ ทส. มท. กษ. กรมอุตุนิยามวิทยา GISTDA กองทัพภาคที่ 3 และตำรวจภูธรภาค 5 มาร่วมกันถอดบทเรียน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน”