กรมชลประทาน ระดมกระสอบทรายกว่า 6,000 ใบ เข้าไปเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำลำน้ำยัง ป้องกันพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ หลังมีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” เคลื่อนเข้าไทยทางภาคอีสานตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 ส.ค. 62
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด หลังได้รับรายงานจากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า พายุโซนร้อน “โพดุล” ได้ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง บริเวณอำเภอเสลภูมิ และอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำยังที่ไหลมาสมทบจากจังหวัดกาฬสินธุ์ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจล้นตลิ่งบริเวณที่ไม่มีพนังกั้นน้ำเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำได้ จึงได้สั่งการให้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น รถแบคโฮ รถบรรทุกเทท้าย รถขุดบูมยาว รถขุดสแตนดาร์ด เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ กระสอบทราย และถุง Big Bag จำนวน 1,500 ใบ เข็มไม้ยูคาลิปตัส และเสาเข็มพืดเหล็ก (sheet piles) กว่า 300 ต้น เข้าไปเสริมความมั่นคงแข็งแรงของพนังกั้นน้ำลำน้ำยัง
ทางด้านสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน ยังได้สนับสนุนเครื่องมือสำรวจทางธรณีเพื่อสำรวจหาจุดรั่วซึมของพนังกั้นน้ำลำน้ำยัง อีกทั้งสำนักเครื่องจักรกล ยังได้เข้าดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง บริเวณสะพานข้ามลำน้ำยังบ้านกุดเรือตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ เพื่อเร่งอัตราการไหลของน้ำให้ลงสู่พื้นที่ตอนล่างให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันประจำจุดเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสภาพน้ำและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันกั้นน้ำลำน้ำยังตลอดทั้งความยาวทั้งหมด
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ นั้น ได้เพิ่มการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนยโสธร เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำชี ให้มีระดับต่ำลง พร้อมเปิดประตูระบายน้ำบุ่งเป้าและประตูระบายน้ำบ้านปาก บริเวณพนังกั้นน้ำลำน้ำยังฝั่งขวา รวมทั้งเร่งระบายน้ำผ่านห้วยวังหลวงลงสู่บึงเกลือ เพื่อตัดยอดน้ำลงแม่น้ำชี จนถึงขณะนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำยังเริ่มสูงขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันระดมกระสอบทรายกว่า 6,000 ใบ เข้าไปเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำลำน้ำยัง เพื่อป้องกันพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมที่มีน้ำท่วมขณะนี้ ได้เร่งระบายน้ำออกเพื่อไม่ให้นาข้าวเสียหายแล้ว
ส่วนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำห้วยผึ้ง เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่วัดได้ถึง 139 มิลลิเมตร จากการตรวจสอบอาคารระบายน้ำล้นชั่วคราว และทำนบดินปิดกั้นอาคารระบายน้ำล้นเดิม ยังมีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยดี ส่วนอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ที่มีปริมาณน้ำมากให้เร่งพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (UPPER RULE CURVE) เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาในระยะต่อไป