วว. คว้ารางวัลการนำเสนอโปสเตอร์แสดงความเชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะพลาสติกในเวทีนานาชาติ “Ending Plastic Waste Symposium 2024” ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ดร. เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างอย่างยั่งยืน วว. ร่วมนำเสนอความเชี่ยวชาญการจัดการขยะพลาสติกในเวทีงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ Ending Plastic Waste Symposium 2024 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยโปสเตอร์วิชาการของ วว. ได้รับรางวัลชนะเลิศ CRC Award สำหรับโปสเตอร์ที่แสดงถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านขยะพลาสติกมากที่สุด ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567

ผู้ว่าการ วว. เข้าร่วมประชุม ณ เวทีดังกล่าว ในบทบาทของ Advisory Group Member, Thailand Chapter, Indo-Pacific Plastics Innovation Network (IPPIN) โดยได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวทางการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก พร้อมเปิดรับความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนานวัตกรรมลดปริมาณขยะพลาสติก ส่งเสริมการรีไซเคิลและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในการนี้ วว. ยังได้รับมอบประกาศนียบัตร Certificate of Partner จากหน่วยงาน CSIRO ประเทศออสเตรเลีย ในโอกาสที่ วว. สนับสนุนงานและกิจกรรมต่างๆ ของ IPPIN ด้วย

ทั้งนี้ ดร. เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว. ได้นำเสนอเทคโนโลยีการกำจัดขยะชุมชนและขยะพลาสติก ผ่านตัวอย่าง โครงการตาลเดี่ยวโมเดล การจัดการขยะสู่พลังงาน สร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน จังหวัดสระบุรี และโมเดลศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ในจังหวัดระยอง โดยโปสเตอร์วิชาการของ ดร.เรวดีฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ CRC Award ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้บริหาร Solving Plastic Waste Cooperative Research Centre (CRC) หนึ่งในหน่วยงานผู้ร่วมจัดงานสัมมนาฯ เป็นผู้มอบรางวัล

อนึ่ง โครงการตาลเดี่ยวโมเดล จังหวัดสระบุรี เป็นรูปแบบการบริหารจัดการขยะชุมชน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาปรับใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและแปรรูป ชุมชนสามารถเข้าถึงและดำเนินการได้เอง โดยมีเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน คือ 1) ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมระบบกำจัดกลิ่นขยะ และระบบทำความสะอาดถุงพลาสติก (Soft bag) 2) ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูง และ 3) นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอื่นๆ

สำหรับ ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ ณ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นการขยายผลความสำเร็จจากโครงการตาลเดี่ยวโมเดลสู่ภาคเอกชน มุ่งเน้นการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ดำเนินการในรูปแบบ “ธุรกิจชุมชน” หรือ Community Enterprise โดยโมเดลต้นแบบของทั้งสองจังหวัด ได้รับการนำเสนอในเวทีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภูมิภาค Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) และ Asian and Pacific Centre for Transfer of Technology (APCTT) ซึ่งได้รับความชื่นชมต่อความมุ่งมั่นของ วว. ที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม