วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง ภาครัฐ และเอกชน ร่วมแถลงข่าวในหัวข้อ “ปลาหมอคางดำ ทำอย่างไรให้เป็นปลาร้า Hygienic” ภายในงาน “Hygienic ปลาร้าไทย เกรียงไกรตลาดโลก” แชร์เทคนิคการแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นน้ำปลาร้าแบบถูกสุขลักษณะ พร้อมนำเสนอ 5 เมนูสุดพิเศษจากปลาหมอคางดำที่ปรุงคู่กับปลาร้าไทยมาให้ผู้เข้าร่วมงานชม และชิม นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์จากก้างปลาหมอคางดำตอบโจทย์การใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้ง และเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำมากมาย รวมถึงบูทผลิตภัณฑ์จากปลาร้า เพื่อเป็นไอเดียหนุนภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมประมงเร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในทุกมิติ ทั้งการขับเคลื่อน 7 มาตรการ ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 และสร้างแรงจูงใจให้มีการจับเพิ่มขึ้น ทั้งการตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่ระบาดและการันตีราคาที่ 15 บาท/กิโลกรัม ก่อนรวบรวมส่งให้สถานีพัฒนาที่ดินผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ใช้ในสวนยางพื้นที่กว่า 200,000 ไร่ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการควบคุมและลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ ด้วยการส่งเสริมให้มีการจับเพื่อบริโภคในครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน หนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสมัยใหม่มาใช้ในการแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นน้ำปลาร้า ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นอีกหนึ่งวิธีในการแก้ไขปัญหาการระบาด ตามมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับเพื่อบริโภค เนื่องจากปลาหมอคางดำมีปริมาณโปรตีน 18 – 20% และไขมัน 0.25 – 3% ซึ่งเป็นค่าที่ใกล้เคียงกับปลาน้ำจืดทั่วไป จึงสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารหรือแปรรูปด้วยวิธีการถนอมอาหารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ปลาแดดเดียว ปลาหวาน น้ำปลา รวมถึง น้ำปลาร้า ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้มีปริมาณการส่งออกและมูลค่าของปลาร้าและผลิตภัณฑ์ ในปี 2566 สูงถึง 65,000 ตัน และมีมูลค่า 2,396 ล้านบาท (ข้อมูลจาก กรมประมง, 2567) ซึ่งผลิตภัณฑ์ปลาร้าที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP จากกรมประมงตามมาตรฐานการส่งออกของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมสินค้าปลาร้าของไทยให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
โดยภายในงาน กรมประมงได้มีการจัดแสดงนิทรรศการโชว์ผลิตภัณฑ์และเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ได้แก่ ปั้นขลิบปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำแผ่น ปลาร้าปลาหมอคางดำ และไส้อั่วปลาหมอคางดำ รวมถึง ผลิตภัณฑ์แคลเซียมผงที่ผลิตจากก้างปลาหมอคางดำเพื่อตอบโจทย์การใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้ง (Zero waste) มาจัดแสดงภายในงานอีกด้วย
นายชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาร้าเป็นอาหารพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมในการบริโภคทั่วทุกภาคของประเทศไทย และตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ตนได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาร้า Hygienic ที่ถูกสุขลักษณะ โดยใช้ปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบ ประกอบกับขณะนี้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเกิดขึ้นในประเทศ ทำให้มีปริมาณปลาหมอคางดำที่ถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์มาก ตนจึงเห็นโอกาสในวิกฤตด้วยการนำวัตถุดิบปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นปลาร้า Hygienic เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ ซึ่งได้ทำการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนตรวจสอบคุณภาพน้ำปลาร้า และประสานความร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษาทดลอง และวิจัย รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำปลาร้าให้มีมาตรฐาน นออกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำปลาร้าอีกด้วย
โดยในวันนี้ได้นำเมนูพิเศษที่ใช้วัตถุดิบจากปลาหมอคางดำและปลาร้าไทยมาให้ผู้เข้าร่วมงานชิมกันทั้งหมด 5 เมนู ได้แก่ ปลาหมอคางดำปิ้งปลาร้าสมุนไพร, ปลาหมอคางดำทอดปลาร้าสามรส, ปลาหมอคางดำฟูยำมะม่วงปลาร้าหอม, ปลาหมอคางดำร้าอบชีสไทย และทอดมันปลาหมอคางดำสอดไส้ปลาหมอคางดำร้ามะกรูดหอม
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า … การจัดงานในครั้งนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการจับเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ต้องการส่งเสริมหรือเพิ่มมูลค่าให้กับปลาหมอคางดำมากเกินไปจนนำไปสู่การลักลอบขยายพันธุ์ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ช่วยกันจับ-ช่วยกันกิน-ช่วยกันใช้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการมาตรการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการควบคุมประชากรสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างเป็นระบบต่อไป