วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีแถลงข่าวงานแพรพัสตรา บรมราชินีนาถ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 โดยมีนางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมแถลงข่าว และนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมและเครือข่ายทางวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ ห้องแกลลอรี 5 หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยภายในงานแถลงข่าวมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชุด “แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ” การแสดงดนตรีโดยวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และการสาธิตงานศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ การทำขนมอาลัว ขนมชั้น ขนมบัวหิมะ การสาธิตการทำภูษาผ้าลายอย่างจากชุมชนคุณธรรมบ้านไร่มะตูม จังหวัดเพชรบุรี และผ้าปักจากชุมชนคุณธรรมบ้านสันทางหลวง จังหวัดเชียงรายและจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้า
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์และส่งเสริมการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ ส่งเสริมงานหัตถศิลป์ และงานหัตถกรรมของไทย รวมถึงทรงอนุรักษ์ ส่งเสริมมรดกภูมิปัญญา “ผ้าไทย” ยกระดับผ้าไทยให้มีความโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาชาติ ซึ่งวธ.ได้ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอนหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 ในชื่องาน “แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ” ระหว่างวันที่ 12 – 18 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 – 20.30 น. โดยจะมีพิธีเปิดงานและพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 เวลา 11.30 น. ณ ลานพาร์ค พารากอน ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ภายในงานกิจกรรมประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นิทรรศการ “วันผ้าไทยแห่งชาติ” การแสดงศิลปวัฒนธรรมและดนตรี การแสดงระบำชุดไทยพระราชนิยม การแสดง “วิจิตราอาภรณ์ของแผ่นดิน ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” การแสดงโขนเด็ก การขับร้องเพลงโดยสุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ การแสดงพื้นบ้าน (แสตมป์) การแสดงดนตรีไทยและดนตรีสากลโดยกรมศิลปากร การแสดงสมาคมศิลปินพื้นบ้าน 9 สมาคมและการขับร้องเพลงโดยศิลปินแห่งชาติ การแสดง “ศิลปะร่วมสมัย เทิดไท้พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งมีการจัดการแสดงดนตรีร่วมสมัยเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยเครือข่ายศิลปินร่วมสมัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ศิลปินศิลปาธรและศิลปินรับเชิญและการเดินแบบแฟชั่นโชว์เครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย โดยเป็นชุดผลงานที่เกิดจากการประกวดโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัยชายแดนใต้สู่สากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 การแสดงวงโปงลางออนซอนอีสาน โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดวงโปงลาง กรมพลศึกษา ปี 2566 การแสดงวงดนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์ การแสดงหุ่นละครเล็ก โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร การขับร้องเพลงโดย ผิงผิง The Golden Song เต๋า ภูศิลป์และ Pat Power Pat การแสดงวงดนตรีลูกทุ่งชิงช้าสวรรค์ โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพฯ และการแสดงหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์
นอกจากนี้ มีการสาธิตงานศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ การสาธิตทำขนมอาลัวและวุ้นกะทิมะพร้าวน้ำหอมในรูปแบบ“พวงมาลัยและดอกมะลิ” การทำขนมบัวหิมะ ขนมชั้นดอกไม้ ขนมช่อม่วง ขนมช่อผกากรอง การสาธิตปักกระเป๋าใส่เหรียญ การเย็บพวงกุญแจรูปปลา การเย็บหมอนผ้าปักชาดูดกลิ่น การทำกระเป๋าผ้าปัก การทำพวงกุญแจผ้าปัก การทำพวงกุญแจดอกไม้จากผ้า การทำมาลัยกลีบผ้าและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) จาก 30 ชุมชน
ขณะเดียวกันหน่วยงานสังกัด วธ.จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ กรมการศาสนาจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคมในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ วัดสาลโคดม ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และกรมศิลปากรจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เช่น นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 1-31 สิงหาคม 2567 ณ หอสมุดรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี นิทรรศการหนังสือ “ผ้าไหมไทย” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 1-31 สิงหาคม 2567 ณ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมจิตอาสา อนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานอุดรโคปุระปราสาทพิมาย อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า วธ.ขอเชิญชวนประชาชนร่วมงานแพรพัสตรา บรมราชินีนาถ เฉลิมพระเกียรติฯ และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยและส่งเสริมการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติและนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ทั่วโลก ทั้งนี้ ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมงานแพรพัสตรา บรมราชินีนาถ เฉลิมพระเกียรติฯและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765
นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และศูนย์การค้าสยามพารากอน มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานต่างๆ จัดงาน “แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งการสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยได้เรียนรู้พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์ พัฒนาและต่อยอด “ผ้าไทย” นับเป็นการส่งเสริมงานหัตถศิลป์และงานหัตถกรรมของไทย และร่วมสืบสาน รักษาและต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญและยึดมั่นในการสนับสนุนงานหัตถศิลป์และงานหัตถกรรมของไทยมาโดยตลอด จึงได้เปิดพื้นที่เพื่อสนับสนุนงานภูมิปัญญาไทยและส่งเสริมช่างฝีมือไทยนำเสนอผลงานอันทรงคุณค่าสู่สาธารณชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก