รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่ายวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ภายใต้กิจกรรมเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่นร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 มีจุดมุ่งหวังให้เยาวชนเชื้อสายไทยในต่างประเทศมีโอกาสกลับมาเยือนแผ่นดินของบรรพบุรุษได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีของไทย และส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่เติบโตในต่างประเทศได้ตระหนักถึงความเป็นไทย ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยจากประสบการณ์ตรง ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายชุมชนไทยและขยายความร่วมมือด้านเครือข่ายในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ที่สำคัญช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในปี 2567 วธ.ได้เปิดรับสมัครเยาวชนอายุระหว่าง 12 – 16 ปีที่มีเชื้อสายไทยและเติบโตในต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งปรากฏว่ามีเยาวชนสมัครร่วม จำนวน 40 คน จากถิ่นพำนัก 16 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ บาห์เรน ฝรั่งเศส เยอรมนี เวียดนาม สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย อังกฤษ และฮ่องกง ทั้งนี้จะนำเยาวชนลูกหลานชาวไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางไปเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม สร้างความผูกพันด้านประเพณี วัฒนธรรม และจิตสำนึกความเป็นไทย ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535 และจังหวัดสุพรรณบุรีที่ได้รับการประกาศเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี เมื่อปี 2566 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการศึกษาและเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
“เยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่นทุกคนจะเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อาทิ วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดราชบูรณะ และทำกิจกรรมการเรียนรู้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นอกจากนี้ทุกคนยังได้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย กิจกรรมแต่งกายนาฏศิลป์ กิจกรรมสาธิตเพลงพื้นบ้าน ที่สำคัญยังได้ฝึกปฏิบัติด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย ณ วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้เยาวชนจะได้รับฟังการบรรยายและฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทไทยด้วย และจะได้เดินทางไปเรียนรู้ ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) อีกด้วย” นางสาวสุดาวรรณ
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าเยาวชนทุกคน ตลอดจนผู้ปกครองเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะร่วมกันทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในดินแดนที่ตั้งถิ่นฐาน ที่สำคัญร่วมกันส่งเสริมและพัฒนา Soft Power ของไทยในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศอย่างกว้างขวางและเข้าถึงนานาประเทศได้มากขึ้น