‘ภูมิธรรม’ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และคณะผู้บริหารจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในการเข้าเยี่ยมคารวะครั้งนี้ มุ่งเน้นกระชับความสัมพันธ์ด้านการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) โดยผลักดันความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนผ่านมาตรการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) รวมถึงสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) ตอกย้ำไทยเร่งเดินหน้ามาตรการ Licensing ตอบสนองต่อระเบียบการค้ายุคใหม่ที่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของนานาชาติ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการเข้าเยี่ยมคารวะของนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และนายกอนซาโล สวอเรซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำสำนักความมั่นคงปลอดภัยนานาชาติและการไม่แพร่ขยายอาวุธ เมื่อวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567 ณ กระทรวงพาณิชย์ จากการหารือครั้งนี้ ทราบว่าผู้แทนสหรัฐฯ มีความห่วงกังวลในเรื่องการควบคุมรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้เพื่อผลิตเป็นอาวุธที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศโดยเฉพาะในรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง (Common High Priority List: CHPL)
นายภูมิธรรมได้กล่าวว่า ตนได้ให้ความมั่นใจกับสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรสำคัญว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการดำเนินการควบคุมกิจกรรมการส่งออกที่จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ตามข้อมติของนานาชาติ โดยเฉพาะมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 และจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยเป็นประเทศทางผ่านสินค้าดังกล่าวตามกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในการกำหนดมาตรการ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยร่วมด้วย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างดำเนินการใช้ระบบการออกใบอนุญาต (Licensing) และจะมีการทบทวนบัญชีรายการสินค้า DUI ให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าของไทยถูกส่งผ่านไปยังปลายทางที่มีความเสี่ยง โดยจะนำร่องด้วยสินค้ากลุ่มนิวเคลียร์ในระยะแรก คาดว่าจะเริ่มมีผลใช้บังคับกลางปี 2568
นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ ตนได้หยิบยกเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญมากคือกรณีสหรัฐฯ เปิดไต่สวนและใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า (AD และ CVD) กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ในสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ได้ย้ำว่าได้แจ้งความกังวลเรื่องที่มีการปนสินค้าขยะอันตราย (ขยะเทศบาล) มากับสินค้าประเภทอื่น จากสหรัฐฯ มายังไทย โดยขอให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยควบคุมด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยินดีประสานงานต่อไป
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มาตรการทางการค้าและการลงทุนที่มีอยู่เดิมอาจไม่เพียงพอในโลกการค้าปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงและสันติสุขของโลก มาตรการควบคุมสินค้า DUI ถือเป็นมาตรการใหม่ในประเทศไทยที่ภาคเอกชนไทยควรให้ความสำคัญและตอบสนองด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัย ปราศจากการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยาย WMD