วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะลานีญาทำให้ในครึ่งเดือนหลังของเดือนกรกฎาคม 2567 มีฝนตกชุกมากขึ้นจากอิทธิพลของร่องอากาศต่ำที่เลื่อนกลับลงมาพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้นเป็นระยะๆ และอาจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่เข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยได้ตลอดแนวด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ใช้เครื่องบิน Casa 4 ลำ ดูแลพื้นที่ในเขตลุ่มรับน้ำเขื่อนเจ้าพระยา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.สุรินทร์ ใช้เครื่องบิน Caravan 4 ลำ ดูแลพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ใช้อุปกรณ์การพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ(ground based generator) โดยมีการนำอุปกรณ์ไปติดตั้งที่บริเวณเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เนื่องจากอุปกรณ์ชนิดนี้ต้องจัดตั้งในพื้นที่ภูเขาสูงเพื่อทำให้สารที่พ่นนั้นเข้าใกล้เมฆ และผ่านเมฆมากที่สุด โดยกระบวนการการทำงานของอุปกรณ์การพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ(ground based generator) นั้น จะใช้สารฝนหลวงนำมาอัดเป็นแท่งและห่อหุ้มด้วยวัสดุที่ใช้ในการเผาไหม้ จากนั้นจะทำการจุดไฟด้วยไฟฟ้าทำให้เกิดควันลอยออกมาทำปฏิกริยากับก้อนเมฆ ซึ่งจะสอดคล้องกับตำราฝนหลวงพระราชทานในขั้นตอนที่ 2 คือการเลี้ยงให้อ้วน ซึ่งที่ผ่านมาทำให้มีฝนตกในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และพื้นที่บริเวณโดยรอบ
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่าสำหรับการวางแผนปฏิบัติการทำฝนในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝน ได้มีการกำชับและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพออยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร และทรัพย์สินของประชาชน และได้วางแผนช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตรที่ยังต้องการน้ำ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกไม่ทั่วถึงในบางพื้นที่ รวมถึงภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังคงมีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ในขณะนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติการฝนหลวงในระยะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่ ติดตาม ประเมินผลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ประชาชนผู้ใช้น้ำ ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่ และขอรับบริการฝนหลวง ผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊กกรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, X ; @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100-18