วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ วัดสำราญ ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศราราม ราชวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวชิระ เกตุพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีมอบโฉนดที่ดินให้แก่วัด วัดร้าง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายจารุวัฒน์ มณีรัตน์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยนายวีระ จำลอง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ พุทธศาสนิกชนจังหวัดลพบุรี เข้าร่วมพิธี
ด้วยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมที่ดินได้อนุมัติโครงการเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้แก่วัด วัดร้าง โบสถ์ มัสยิด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมมือกับกรมที่ดิน จัดทำแผนปฏิบัติการ โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้สอดคล้องกับกรมที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินสามารถพิจารณาลงนามโฉนดที่ดินในภาพรวมทั้งประเทศ ได้จำนวน 88 แปลง ใน 32 จังหวัด เพื่อน้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมที่ดินจึงได้จัดทำโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินให้แก่วัดร้าง โบสถ์ มัสยิด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
โดยในจังหวัดลพบุรี มีโฉนดที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินพิจารณาลงนามแล้วและพร้อมที่จะมอบให้วัด จำนวน 7 แปลง ได้แก่ วัดสุนทรเทพคีรี(มีพระสงฆ์) อำเภอชัยบาดาล เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา วัดใหม่กุดตาเพชร(มีพระสงฆ์) อำเภอลำสนธิ เนื้อที่ 46 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา วัดหนองบัวขาว(ร้าง) อำเภอบ้านหมี่ เนื้อที่ 4 ไร่ 0 งาน 70.2 ตารางวา วัดหนองจีน(อาจารย์จีน)(ร้าง) อำเภอบ้านหมี่ เนื้อที่ 3 ไร่ 0 งาน 69 ตารางวา วัดโพธิ์(ร้าง) อำเภอบ้านหมี่ เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 33.6 ตารางวา วัดทะเล(ร้าง) อำเภอท่าวุ้ง เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 49.9 ตารางวา และวัดทางช้าง(ร้าง) อำเภอท่าวุ้ง เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 99.5 ตารางวา ทั้งหมด 7 แปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 82 ไร่ 0 งาน 39.1 ตารางวา
ทั้งนี้ สำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรี ผู้รับผิดชอบในการออกโฉนดที่ดินได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป็นอย่างดี และเพื่อให้ที่ดินอันเป็นศาสนสถาน มีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แสดงตำแหน่งที่ตั้ง ขอบเขต มีหลักฐานมั่นคงถาวร อันเป็นการสนับสนุนและบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อลดปัญหาพิพาทและการบุกรุกที่ดินเพื่อการศาสนาต่อไป