สรพ. จับมือเขตสุขภาพที่ 10 ลงนามจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (HACC) เขตสุขภาพที่ 10 อุบลมุกศรีโสธรเจริญ หวังขยายแนวคิดการพัฒนาคุณภาพบุคลากรและสถานพยาบาลตามมาตรฐาน HA ในพื้นที่โซนอีสานล่าง ครอบคลุม จ.อุบลราชธานี จ.มุกดาหาร จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร และ จ.อำนาจเจริญ
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล เขตสุขภาพที่ 10 อุบลมุกศรีโสธรเจริญ ในการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (Hospital Accreditation Collaboration Center: HACC) ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ เขตสุขภาพที่ 10 ในนามของศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล เขตสุขภาพที่ 10 อุบลมุกศรีโสธรเจริญ ซึ่งครอบคลุมสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชน กองทัพบก รวมทั้งสิ้น 86 แห่ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.มุกดาหาร จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร และ จ.อำนาจเจริญ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลให้เกิดความครอบคลุม ต่อเนื่อง และยกระดับการพัฒนา สร้างกลไกการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการสร้างผลงานวิชาการ จัดการและเผยแพร่องค์ความรู้ ผ่านเวทีการเรียนรู้ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การจัดหลักสูตรฝึกอบรมแนวคิดคุณภาพ มาตรฐานสถานพยาบาลและบริการสุขภาพสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ตลอดจนโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลในการบริการสุขภาพแก่ประชาชน
“ทิศทางนโยบายของ สรพ.จะใช้กลไกการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเป็นเครื่องมือรับการเปลี่ยนแปลง โดยการพัฒนามาตรฐาน HA สู่สากล ยกระดับและสร้างความร่วมมือเพื่อทำให้สถานพยาบาลในพื้นที่ สามารถธำรงอยู่กระบวนการรับรองคุณภาพ (Continues improvement) สร้างความครอบคลุม (Coverage) ให้สถานบริการในพื้นที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพมาตรฐาน เกิดการยกระดับของสถานพยาบาล (Maturity) และความปลอดภัยของประชาชนในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งการลงนามในครั้งนี้เป็นการยืนยันถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของทุกฝ่าย ในการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเห็นประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จและการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะสร้างผลประโยชน์ที่ดีต่อประชาชนและสังคมโดยรวม” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า สรพ. มีกลยุทธ์ในการขยายแนวคิดการพัฒนาคุณภาพและการรับรองกระบวนการคุณภาพตามมาตรฐาน HA ไปสู่สถานพยาบาลในระดับภูมิภาคทั่วประเทศไทย โดยประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนแพทย์ที่สมัครใจ ในการจัดตั้งเป็นศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล หรือ HACC เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายจำนวนของสถานพยาบาล และเกิดการพัฒนาระบบคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ ปี 2554 เป็นต้นมา
พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลทั้งหมดมีจำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย HACC โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 2) HACC คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (3) HACC คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (4) HACC คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (5) HACC เขตนครชัยบุรินทร์ และ (6) HACC ภาคใต้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ (7) HACC กรมแพทย์ทหารบก ในการทำหน้าที่ร่วมกับ สรพ.ในการส่งเสริมกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพสำหรับสถานพยาบาลในภูมิภาคให้เข้าถึงความรู้และแนวคิดคุณภาพและมาตรฐาน HA โดยมีขอบเขตในลักษณะพื้นที่รับผิดขอบในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล ทั้งสิ้น รวม 41 จังหวัด ครอบคลุม 7 เขตสุขภาพ จากทั้งสิ้น 13 เขตสุขภาพ อย่างไรก็ดี ยังมีอีก 6 เขตสุขภาพที่ยังไม่มีศูนย์ความร่วมมือฯ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 4 5 6 8 10 และ 13 สรพ. จึงกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มความครอบคลุมของศูนย์ความร่วมมือฯ เพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้ครอบคลุมสถานพยาบาลทุกจังหวัดทุกเขตสุขภาพของประเทศไทย ภายในปี 2570 ซึ่งในปี 2567 นี้ สรพ. มีเป้าหมายในการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฯ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือกรมแพทย์ทหารบก ศูนย์ความร่วมมือภาคตะวันออก และ ศูนย์ความร่วมมือฯ เขต 10 อุบลมุกศรีโสธรเจริญ
“การลงนาม MOU ในวันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ เขตสุขภาพที่ 10 ในการทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนสถานพยาบาล การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรสุขภาพในพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 10 ให้ยกระดับการพัฒนาคุณภาพและต่อเนื่องต่อไป” พญ.ปิยวรรณ กล่าว