กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวผลความสำเร็จ CITES

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา 10.00 – ๑๒.๐๐ น. นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศผลสำเร็จในการที่ CITES ประกาศปลดบัญชีประเทศไทยออกจากประเทศน่ากังวลในการค้างาช้าง บรรลุตามวัตถุประสงค์และประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามการค้างาช้าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอกเฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมศรียาภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

จากสถานการณ์การลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย ประเทศไทยถูกใช้เป็นช่องทางในการขนส่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยในอดีตประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้างาช้างผิดกฎหมายในกลุ่มประเทศที่มีความน่ากังวลอย่างยิ่ง (Primary Concern) ถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่รุนแรง จนเกือบได้รับบทลงโทษระงับการค้าสินค้าที่เกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย (Revised Thailand National Ivory Action Plan) เพื่อเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ได้กำหนดภารกิจและมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมปศุสัตว์ กรมการปกครอง บริษัทท่าอากาศยานไทย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นคณะอนุกรรมการ รับผิดชอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาได้ดำเนินการในเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามการลักบอบค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นและจริงจังทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีสถิติผลการจับกุม 44 คดี ปริมาณงาช้าง 4,492 ชิ้น 1,657 กิ่ง 712 ท่อน 22 กล่อง2,186 รายการ น้ำหนักรวม 9,901.82 กิโลกรัม มูลค่า 990,182,000 บาท (เก้าร้อยเก้าสิบล้านหนึ่งแสนแปดหมื่นสองพันบาท)  ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ จากความร่วมมือ ร่วมใจของทุกองค์กร

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช