กรมวิทย์ฯ บริการ กระทรวง อว. จับมือจังหวัดสมุทรสงคราม หนุน “อัมพวา โมเดล” เดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้การจำกัดน้ำเสียจากการแปรรูปมะพร้าวอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และ นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดการน้ำเสียจากการแปรรูปมะพรต้าวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา : อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (อัมพวา โมเดล) ถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางการจัดการน้ำเสียจากการแปรรูปมะพร้าวอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ บูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการรักษาสภาพแวดล้อมจากการประกอบอาชีพด้านการแปรรูปมะพร้าว มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 150 คน ณ ห้องประชุม ชั้น 4 โรงแรมชูชัยบุรีศรีอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวว่า ตามนโยบายของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนายกระดับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความอย่างยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาช่วยส่งเสริมและแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งกรมวิทย์ฯ บริการ กระทรวง อว. มีบทบาทภารกิจหลักในการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) มีเป้าหมายสำคัญในการนำกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนเพื่อรตอบโจทย์สำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้สามารถสนับสนุนและเอื้อประโยชน์เพื่อบริการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่ชุมชนให้มากขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ

สำหรับโครงการอัมพวาโมเดล เป็นการบูรณาการร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีหน่วยงานหลักของจังหวัดร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ สภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานสาธารณสุขอำเภออัมพวา เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวในพื้นที่อำเภออัมพวา ทั้งนี้ เพื่อจัดการน้ำเสียจากการแปรรูปมะพร้าว ทั้งด้านการกำหนดนโยบาย และข้อกำหนดในการจัดการน้ำเสีย รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีการจัดการน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นโครงการนำร่องที่สามารถขยายผลไปยังอำเภออื่นในจังหวัดสมุทรสงครามได้ และสามารถใช้เป็นต้นแบบในการจัดการน้ำเสียอย่างยั่งยืนสำหรับกิจการอื่นๆ ในจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยังยืนต่อไป

ภายในงาน ได้มีเสวนาหัวข้อ “แนวทางการจัดการน้ำเสียจากการแปรรูปมะพร้าวอย่างยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจากนายสมฤทธิ์ วงษ์สวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม, นายยรรยงค์ อินทฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสงคราม, นายสุชิน น้อยสกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม, นายอมรพล ช่างสุพรรณ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ และนางสาวเจนจิรา ภูริรักษ์พิติกร นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ มาเป็นวิทยากร ถือเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ และหน่วยงานบูรณาการงานวิจัยฯ ให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย กิจกรรม และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกด้วย

#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กระทรวงอว #กรมวิทย์ฯบริการ #กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #DSS #MHESI