นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 9.9 พันล้านคน ผลกระทบดังกล่าวทำให้ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้นตามมา แต่ปัญหาโลกร้อน ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม ก็ทำให้จำนวนแมลงผสมเกสรและผลผลิตการเกษตรลดน้อยลงทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มผลผลิตพืชในทุก ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของพันธุ์ การจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย การดูแลรักษาพืช รวมทั้งส่งเสริมการเลี้ยงแมลงผสมเกสร เพื่อเป็นวิธีการทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมวิธีหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลผลิตพืช เพราะถึงแม้ว่าพืชเจริญเติบโตอย่างดี แข็งแรงออกดอกเต็มต้น แต่หากไม่มีแมลงช่วยผสมเกสร ผลผลิตพืชก็จะน้อย รวมทั้งหากพืชมีการผสมเกสรไม่เต็มที่ ผลผลิตที่ได้ก็จะบิดเบี้ยว ไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีคุณภาพ ดังนั้น การใช้แมลงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิต จึงมีความจำเป็นและเป็นที่ยอมรับของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่าได้ผลดี ซึ่งจากการรายงานของ FAO ยังระบุอีกว่า ปริมาณผลผลิตของพืชอาหาร ร้อยละ 35 ขึ้นอยู่กับการผสมเกสรของแมลงตระกูลผึ้งอีกด้วย
สำหรับชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว เป็นแมลงช่วยผสมเกสรในสวนผลไม้และพืชผักเกือบทุกชนิด บินออกหาอาหารในรัศมีประมาณ 300 เมตร ไม่มีพฤติกรรมทิ้งรัง ไม่เลือกตอมดอก ทำให้ผสมเกสรพืชได้ดีกว่าผึ้ง เกษตรกรนิยมเลี้ยงชันโรงในสวนไม้ผล เพราะช่วยให้ผลผลิตติดดอกออกผลดี ได้รูปทรงผลที่สวยงามและมีคุณภาพดี และชันโรงยังเป็นแมลงชี้วัดความปลอดภัยจากสารเคมีในผลผลิต ซึ่งการเลี้ยงชันโรง สามารถเลี้ยงได้ทั้งรูปแบบอยู่กับที่หรือเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร โดยนิยมเลี้ยงในกระบอกไผ่ ในกล่องหรือลังไม้ เพราะนอกจากจะช่วยควบคุมอุณหภูมิได้ดีแล้ว ยังเป็นวัสดุที่หาง่าย ราคาไม่แพง และคงทน สำหรับการวางรังชันโรง ควรวางกระจายคลอบคลุมพื้นที่ในช่วงที่พืชอาหารมีดอกบาน โดยจะต้องดูความเหมาะสมของสถานที่ที่มีความปลอดภัยจากสารเคมี สภาพลมฟ้าอากาศที่ไม่ร้อนจัดและหนาวจัด มีหลังคาหรือวัสดุคลุม มีขาตั้งรังเพื่อป้องกันศัตรู เช่น ไก่ นก มด มวน คางคก จิ้งจก จิ้งเหลน เป็นต้น รวมทั้งเป็นบริเวณที่มีแหล่งอาหาร เช่น ยางไม้ เกสรน้ำหวานดอกไม้ และแหล่งน้ำตลอดปี และมีการตรวจสภาพความสบูรณ์ในรังเดือนละครั้ง โดยทั่วไปถ้าเป็นสวนที่ปลูกผลไม้เต็มพื้นที่จะใช้รังชันโรงไม่ต่ำกว่า 10 รัง/ไร่ แต่หากเป็นสวนมะพร้าว หรือสวนผสมอื่นๆ จะใช้เพียง 4-5 รัง/ไร่ ทั้งนี้ ผู้ที่จะเลี้ยงชันโรงจำเป็นต้องแยกขยายรัง ซึ่งจะต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ โดยต้องอยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่ชันโรงรังนั้น ๆ มีความต้องการที่จะขยายรังอยู่แล้ว ต้องทำในช่วงฤดูดอกไม้บาน มีการสะสมอาหารไว้ภายในรังเป็นจำนวนมาก และภายในรังได้มีการสร้างชันโรงตัวผู้จำนวนมากสำหรับการผสมพันธุ์กับนางพญาชันโรงตัวใหม่
ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตชันโรง ชุดที่ปฏิบัติงานควรเป็นผ้าร่ม หลีกเลี่ยงสีดำ มีหมวกตาข่ายไว้ช่วยป้องกันด้วย โดยจะใช้มีดตัดถ้วยน้ำหวาน วางบนภาชนะที่มีผ้าขาวบาง ใช้ช้อนกด (บีบ) ทำให้ได้น้ำผึ้งไหลลงมาที่ภาชนะ ส่วนกากที่เหลือจากการบีบ จะได้เป็นพรอพอลิส น้ำผึ้งที่ได้จากชันโรง มีลักษณะเด่น คือ มีสีค่อนข้างเข้มดำ มีความเป็นกรดสูง มีรสเปรี้ยว มีคุณประโยชน์สูงทางโภชนาการ โดยมีสารอาหารมากกว่า 22 ชนิด เช่น คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน วิตามิน แร่ธาตุ และเอนไซม์ต่างๆ นำไปผสมกับเครื่องสำอาง อาหารและยา เช่น สบู่ โลชั่น แชมพู ยาสีฟัน ลูกอม เป็นต้น ส่วนชันของชันโรง หรือพรอพอลิส เป็นสารปฏิชีวนะในธรรมชาติ มีสารประกอบโฟลวานอยส์ และสารต้านอนุมูลอิสระจากพืชที่มีคุณสมบัติต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และมีคุณสมบัติยับยั้งการอักเสบได้ดี ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลผลิตจากชันโรงมีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการส่งออกน้ำผึ้งชันโรงไปขายต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย และยังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่เกษตรกรยังผลิตได้ไม่ทันต่อความต้องการ เนื่องจากชันโรงขยายประชากรได้ช้ากว่าผึ้ง และยังมีการดำรงชีวิตที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายพันธุ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีราคาสูง โดยน้ำผึ้งชันโรง ให้ผลผลิตน้ำผึ้งเฉลี่ย 300-500 กรัม/รัง จำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ย 1,500 – 2,000 บาท/ กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป ส่วนชันของชันโรง จำหน่ายได้ในราคา 800 – 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพที่ได้
อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมการเลี้ยงตามมาตรฐานสำหรับฟาร์มผึ้งชันโรงที่ได้จากการเพาะเลี้ยงและแยกขยายรัง ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบเหมาะสม 9 ด้าน คือ 1.องค์ประกอบของฟาร์มตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งอาหารพืชที่มียางและน้ำเพียงพอปลอดภัยจากสารเคมี 2.การจัดการในการเลี้ยงและการวางแผน 3.การจัดการผลผลิตและผลิตภัณฑ์อย่างถูกวิธี 4.การทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์การเลี้ยงเป็นอย่างดี 5.สุขภาพชันโรงสามารถเติบโตและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ 6.สวัสดิภาพชันโรงมีความเหมาะสม ถูกสุขอนามัย ไม่แออัดและมีอาหารเพียงพอ 7.ผู้เลี้ยงได้รับการอบรมในการเลี้ยง 8.การจัดการสิ่งแวดล้อมมีการจัดเก็บขยะมิดชิดและกำจัดอย่างถูกวิธี และ 9.การบันทึกข้อมูลที่มีความสม่ำเสมอ เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบได้ โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว และสนใจขอการรับรองมาตรฐาน (GAP) หรือการปฏิบัติกางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้งชันโรง จะต้องผ่านการตรวจประมินจากกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนด มกษ. 8205 – 2565 โดยสามารถติดต่อสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงชันโรง สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชุมพรและเชียงใหม่ และศูนย์ส่งและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี ขอนแก่น และจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0 2940 6102