หอการค้าไทยประกาศขับเคลื่อน Circular Economy เน้นจัดการปัญหาขยะ และของเหลือใช้ จากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร เสนอแผนรณรงค์ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง พร้อมจ้าง TDRI ศึกษาปัญหาขยะทะเล เสนอรัฐประกาศเป็นวาระแห่งชาติ
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน Circular Economy หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยมองเห็นถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในเชิงลบ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหามลภาวะ อันเนื่องมาจากขยะและของเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร โดยขณะนี้ “ปัญหาขยะทะเล” เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลก ทั้งนี้ ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด และขยะที่พบในทะเลส่วนใหญ่คือ “ขยะพลาสติก” ดังนั้น หอการค้าไทยจึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาที่มาของขยะทะเลและมาตรการจัดการปัญหาขยะทะเล มากว่า 6 เดือนแล้ว นอกจากนี้ “ขยะอาหาร” ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะประมาณ 60% ของขยะมูลฝอยทั้งหมดมาจากขยะอาหาร ซึ่งหากจัดการแยกขยะอาหารไม่ถูกต้องก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดการขยะโดยรวม
“หอการค้าไทยกำลังขับเคลื่อนนโยบาย Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการขยะพลาสติกและขยะอาหารแบบบูรณาการ ทั้งนี้ หอการค้าไทยจะใช้เครือข่ายที่มีสมาชิกรวมกว่า 120,000 ราย เป็นตัวขับเคลื่อน Circular Economy ของประเทศร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานเอกชนอื่น และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ชี้แจงผลการศึกษาที่มาขยะทะเลว่า จากที่หอการค้าไทยได้ว่าจ้าง TDRI ให้ศึกษาที่มาขยะทะเลนั้น พบว่า แหล่งที่มาของขยะทะเลที่สำคัญในไทย ประกอบด้วย ชุมชนหรือร้านค้าที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำและริมชายฝั่ง การท่องเที่ยวริมชายหาด และขยะจากหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง นอกจากนั้น ยังมีแหล่งที่มาอื่น ๆ ได้แก่ ขยะจากเรือประมง เรือขนส่งสินค้า รวมถึงขยะที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเภทขยะที่พบมากที่สุดคือ ถุงพลาสติก กล่องโฟม ถุงก๊อปแก๊ป ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเล มีดังนี้
- เสนอให้รัฐบาลประกาศเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะ เป็น “วาระแห่งชาติ”
- รัฐควรออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ เช่น การเลิกใช้โฟม การเก็บเงินหากใช้ถุงพลาสติกการมัดจำขวด เป็นต้น
- ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องร่วมกันรณรงค์ลดการสร้างขยะ พร้อมส่งเสริมการแยกขยะ
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกรรมการขับเคลื่อน Circular Economy หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการฯ และเครือข่าย ร่วมกันกำหนดจุดยืนเพื่อขับเคลื่อน Circular Economy ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและเป็นความยั่งยืนของประเทศ ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อน Circular Economy ของหอการค้าไทยไว้ 4 แผน ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่านเครือข่าย โดยเน้นหวังผลในเชิงปฏิบัติและบูรณาการครอบคลุมทั้งประเทศ ได้แก่
- การรณรงค์ให้ความรู้ เปลี่ยน Mindset โดยเน้น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ
- นักเรียนและนักศึกษา เช่น บรรจุในบทเรียน จัดทำ Board Game และนำโมเดลโรงเรียนต้นแบบมาเผยแพร่
- ประชาชนทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย ชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว โดยใช้ Social Media, Influencers, YouTubers รวมถึงพระสงฆ์และวัด ให้เข้ามามีส่วนร่วม
- การแยกขยะ เช่น จัดตั้งถังแยกขยะในจุดที่เหมาะสม โดยร่วมมือกับภาครัฐและเครือข่าย
- การลด Food Waste (ขยะอาหาร) ในภาคการค้าและบริการ เช่น โรงแรม โดยการเผยแพร่ Best Practice ขององค์กรที่มีการบริหารจัดการ Food Waste ที่มีประสิทธิภาพ
- การนำ Food Surplus (อาหารเหลือที่สามารถบริโภคได้) บริจาคผู้ขาดแคลน