ในวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมประชุมคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ อาทิ นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พลตำรวจตรี ดร.สมชาติ สว่างเนตร อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท สุทธิศักดิ์ จิตพิมลมาศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย ๒ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญ จำนวน 2 ท่าน ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมฯ ณ ห้องประชุม 10-01 อาคารกระทรวงยุติธรรม
ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 171/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) (โดยเป็นการยกเลิกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 158/2567 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2567 และแต่งตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นใหม่) ความเป็นมาและข้อมูลเบื้อต้นของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) และบริษัท/บุคคอื่น ที่เกี่ยวข้อง และข้อมูล/ข้อเท็จจริง จากตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญ และ ข้อมูล/ข้อเท็จจริง จากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้พิจารณา หัวข้อ/ประเด็นในการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ รวมถึงแนวทางการศึกษาแหล่งข้อมูล และกรอบระยะเวลาการดำเนินการของ คณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ตลอดจนการมอบหมายผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ผลการศึกษาในเรื่องนี้สามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องคุ้มครองประชาชน ทำให้ตลาดทุนมีความเชื่อมั่นได้มากขึ้น เราไม่อยากให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ถ้าจะเกิดขึ้นควรจะมีการเตือนภัยมากกว่าเดิม และหลังจากการศึกษามีเป้าหมายสูงสุด คือ การหาแนวทางให้ผู้เสียหายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ โดยกระทรวงยุติธรรมมี “กองทุนยุติธรรม” เป็นช่องทางการช่วยเหลือโดยไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมใด ๆ และถ้าผลการศึกษากรณีดังกล่าวได้มาตามกรอบระยะเวลา ข้อมูลจากการศึกษาจะรายงานต่อรัฐบาล และทุกภาคส่วนต่อไป
ในด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า การทำงานของคณะทำงานฯ มีกรอบระยะเวลา 3 เดือน โดยในตอนต้นกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ว่ามีการกระทำอะไรที่เกิดขึ้น และเป็นความผิดกฎหมายอะไรบ้าง ในขณะเดียวกันจะพิจารณาว่าการเยียวยาผู้เสียหายต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ยังมีช่องว่างอยู่มาก ผู้เสียหายจากการลงทุนในตลาดทุนที่ไม่ได้รับการดูแลเนื่องจากกฎหมายยังครอบคลุมไม่ถึงมีข้อเสนออะไรในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ และจากบทเรียนกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) คณะทำงานฯ จะดำเนินการศึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสามารถที่จะประสานงานการดำเนินการได้อย่างไร และมีแนวทางใดที่สามารถได้ข้อมูลหรือรับรู้ความผิดสังเกตนี้ได้รวดเร็วมากขึ้น เพราะการทำทุจริตประเภทนี้เวลาที่ใช้ในการดำเนินการสั้น ซึ่งถ้ารู้แล้วจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว