17 กรกฎาคม 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงนี้กำลังเข้าสู่กลางภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2567 ซึ่งในโลกออนไลน์เราจะเห็นข่าวที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับความปลอดภัยออกมาเรื่อย ๆ ปัญหาความรุนแรง การอนาจาร ล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นระหว่างครูกับเด็ก เด็กด้วยกัน หรือแม้กระทั่งคู่กรณีเป็นบุคคลภายนอก ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าโรงเรียนยังเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับลูกหลานของเราอยู่หรือไม่
ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายที่ชัดเจนว่าสถานศึกษาจะต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยของเด็กนักเรียน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่กระทบกับเด็ก ศธ.จะไม่ยอมเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องครูกระทำอนาจารลูกศิษย์ของตัวเองแบบนี้ยิ่งไม่ควรเกิดขึ้น จึงได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ติดตามตรวจสอบกรณีเกี่ยวกับการทำอนาจารกับเด็กอย่างเข้มข้น
นายสิริพงศ์ กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเกิดเหตุคือ โรงเรียนต้องเข้าไปจัดการกับต้นตอของปัญหา และคลี่คลายสถานการณ์ให้เรียบร้อยทันที ภายใต้มาตรการเผชิญเหตุที่ ศธ.กำหนด แล้วรายงานผลการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ห้ามปกปิดข่าว หากตรวจสอบพบว่าโรงเรียนจงใจไม่รายงานเหตุให้ สพท. ทราบ ผู้อำนวยการโรงเรียนจะถือว่ามีความผิดและต้องได้รับโทษทางปกครองด้วย จากนั้น สพท.จะตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และย้ายผู้ถูกกล่าวหาออกจากพื้นที่ไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน และทำให้การสืบสวนฯ เป็นไปอย่างยุติธรรม โดยการสืบสวนฯ จะต้องทำให้เสร็จภายใน 7 วัน
ทั้งนี้ ระหว่างที่คณะกรรมการสืบสวนฯ กำลังดำเนินงานอยู่ ในกรณีที่เป็นการทำอนาจารต่อเด็ก สามารถพักราชการผู้ก่อเหตุไว้ก่อนได้ เนื่องจากเป็นเหตุร้ายแรงที่ ศธ. ยอมรับไม่ได้เด็ดขาด สำหรับผลการสืบสวนฯ หากมีมูลความผิดจริงก็จะเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และลงโทษทั้งทางอาญา ทางวินัยราชการ ซึ่งโทษสูงสุดคือไล่ออกจากราชการ
“ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ขอให้ความมั่นใจกับผู้ปกครอง ครู นักเรียน และประชาชน ว่า ศธ. ไม่ยอมรับความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการกระทำคุกคามอนาจารต่อเด็ก ซึ่งจะมีการลงโทษผู้กระทำผิดตามระเบียบและข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลากรทางการศึกษา หรือบุคคลภายนอกโดยไม่ละเว้น พร้อมทั้งยืนยันให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูเด็กที่ได้รับผลกระทบ คุ้มครองสิทธิของเด็ก และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม เพื่อให้เด็กทุกคนอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย อบอุ่น และเอื้อต่อการเรียนรู้” นายสิริพงศ์ กล่าว
นอกจากการลงโทษผู้กระทำผิดทางกฎหมายและวินัยราชการแล้ว สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยสำนักจรรยาบรรณวิชาชีพและนิติการ จะดำเนินการเอาผิดทางด้านจรรยาบรรณของวิชาชีพด้วย ซึ่งหากหน่วยงานต้นสังกัดมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และให้ออกจากราชการไว้ก่อนและพักราชการ คุรุสภาก็จะเสนอพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไว้ก่อนตลอดระยะเวลาการสอบสวนด้วย และหากผลตัดสินว่ามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของผู้กระทำผิดทันที
ศธ. ขอให้คำมั่นว่า สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กนักเรียน หากมีครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา กระทำผิดจรรยาบรรณ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำอนาจารเด็กนักเรียน จะต้องถูกดำเนินการเอาผิดขั้นเด็ดขาดโดยเร็วที่สุด และขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งเคร่งครัดกับการป้องกันการประพฤติผิดในสถานศึกษา ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์ สอดส่องดูแล เอาใจใส่เด็กนักเรียนในสังกัดให้มากขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข