กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งทีมพิเศษฉุกเฉินด้านสุขภาพ (พฉส.) หรือทีม SHERT (Special Health Emergency Response Team) ทุกจังหวัด เฝ้าระวังและตอบโต้ทั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สาธารณภัย และประเด็นกระทบภาพลักษณ์หน่วยงาน ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานภาคีเครือข่ายท้องถิ่นร่วมดูแลสุขภาพกาย ใจ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ประสบภัย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคและภัยธรรมชาติมีรูปแบบที่หลากหลาย มีความรุนแรงและมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเกิดอุทกภัย ฝุ่นละออง หมอกควัน ภัยแล้ง ภัยร้อน และสารเคมีรั่วไหล ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และหากมีการจัดการไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบมาถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนรุนแรงขึ้นได้ รวมถึงบางสถานการณ์ยังส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์และการดำเนินงานของหน่วยงาน ดังนั้น จึงต้องมีการป้องกันและเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนเกิดภัยพิบัติ มีการจัดการในภาวะฉุกเฉินช่วงระหว่างการเกิดภัยพิบัติ และการฟื้นฟูบูรณะหลังการเกิดภัยพิบัติที่รวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อองค์กร
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดตั้ง “ทีมพิเศษฉุกเฉินสุขภาพ” (พฉส.) หรือทีม “SHERT” (Special Health Emergency Response Team) ในสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมไปถึงข้อร้องเรียน ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงาน โดยทำหน้าที่สื่อสารเชิงรุก ตอบโต้ข่าว สืบหาข้อเท็จจริง ลงพื้นที่ให้กำลังใจและแก้ไขปัญหา เพื่อลดผลกระทบหรือยุติสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรายงานข้อมูลสถานการณ์ต่อผู้บริหารอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ โดยทีม SHERT จะติดตามเฝ้าระวังและปฏิบัติการตอบโต้สถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายระดับท้องถิ่นในการป้องกันและลดความเสี่ยงสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
สำหรับเหตุการณ์ที่ทีม SHERT จะเข้าไปตอบโต้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ 1.โรคติดต่อ 2.ภัยสุขภาพที่เกิดจากสารเคมี กัมมันตภาพรังสีและนิวเคลียร์ 3.โรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากธรรมชาติ 4.โรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม 5.เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ 6.อุบัติเหตุเนื่องจากการคมนาคมและขนส่ง 7.อุบัติเหตุ/เหตุการณ์เกี่ยวกับรถพยาบาล 8.ภาพลักษณ์ ปัญหา ความเสี่ยงในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข และ 9.ประเด็นที่ผู้บริหารให้ความสนใจ
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานเฝ้าระวังสาธารณภัยและเหตุการณ์ฉุกเฉินของทีม SHERT ตั้งแต่ 1 มกราคม – 7 กรกฎาคม 2567 มีการรายงาน 213 เหตุการณ์ ใน 60 จังหวัด 5 อันดับสูงสุด คือ 1.อุบัติเหตุ/เหตุการณ์ เกี่ยวกับรถพยาบาล 48 ครั้ง 2.ภาพลักษณ์ ปัญหา ความเสี่ยงในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข 43 ครั้ง 3.ประเด็นที่ผู้บริหารให้ความสนใจ 41 ครั้ง 4.อุบัติเหตุเนื่องจากการคมนาคมและขนส่ง 39 ครั้ง และ5.โรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม 14 ครั้ง