ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ (พมจ.แพร่) นำทีมเจ้าหน้าที่ พมจ. โดย ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดแพร่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่ร่วมกับทีมสาธารณสุขจังหวัดแพร่ (สสจ.แพร่) คณะแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากโรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลหนองม่วงไข่ ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่พื้นที่อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ซึ่งมีผู้มาลงทะเบียนเข้ารับการประเมินรวมทั้งสิ้น 296 คน ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้พิการที่สามารถออกบัตรประจำตัวคนพิการได้ จำนวน 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการที่มีลักษณะความพิการประเภทที่ 3 ทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย และเป็นผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 90
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า การออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ประเมินความพิการและออกบัตรประจำตัวคนพิการในวันนี้ เป็นความห่วงใยของ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ที่เล็งเห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองไม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินความพิการได้ ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิคนพิการที่พึงควรได้รับ จึงมอบหมายให้ สำนักงาน พมจ.แพร่ และสำนักงาน สสจ.แพร่ ร่วมกันดําเนินการดังกล่าว เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และลดขั้นตอนกระบวนการในการขึ้นทะเบียนคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและครอบคลุม เพื่อคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมบนพื้นฐานความร่วมมือของทุกภาคส่วน
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวต่ออีกว่า จังหวัดแพร่ได้ดําเนินการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อออกบัตรประจำตัวคนพิการในพื้นที่ห่างไกลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นมา รวม 5 ครั้ง ได้จดทะเบียนออกบัตรประจำตัวคนพิการทั้งสิ้น 471 ราย แยกเป็น ครั้งที่ 1 ที่ อบต.แม่พุง อำเภอวังชิ้น จำนวน 81 ราย ครั้งที่ 2 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอลอง 132 ราย ครั้งที่ 3 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอสอง 111 ราย ครั้งที่ 4 ทึ่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย อำเภอเด่นชัย 67 ราย และครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ที่หอประชุมโรงเรียนม่วงไข่พิทยาคม อำเภอหนองม่วงไข่ 80 ราย ทั้งนี้ มีแผนลงพื้นที่ออกหน่วยบริการจดทะเบียนคนพิการอีกประมาณ 7 ครั้ง ให้ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอ ภายในปีงบประมาณ 2567 ภายใต้การสนับสนุนจาก รพสต. ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ร่วมดำเนินการอย่างดียิ่งจนสำเร็จเรียบร้อยเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของคนพิการต่อไป
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงาน พมจ.แพร่ พร้อมให้ความร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในและนอกในพื้นที่จังหวัดแพร่ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวง พม. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สามารถบรรเทาปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่มเป้าหมาย ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หากพบเห็นหรือเป็นผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนในการดำรงชีวิต สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจาก พม. ได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง