2 วันสุดท้าย“รมว.สุดาวรรณ” ชวนชมการแสดงละครเพลง การแสดงดนตรี และการแสดงโดรนชุด “สืบสาน รักษา ต่อยอด ปวงประชาแซ่ซ้องสรรเสริญทรงพระเจริญ” ในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“รัฐมนตรีสุดาวรรณ” ชวนชมการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา” โดยศิลปิน นักร้อง นักแสดงมากมาย พร้อมสนุกสนานกับ “ลีลาศ 772 คู่ขวัญเทิดราชัน 72 พรรษามหาวชิรลงกรณ” และชมดนตรีออร์เคสตร้า 4 เหล่า โอเปร่าทศชาติชาดก โชว์การแสดง “ศิลปะร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน” และ 15 ก.ค. ชมความยิ่งใหญ่ปิดท้ายด้วยชุดการแสดงโดรนชุด “สืบสาน รักษา ต่อยอด ปวงประชาแซ่ซ้องสรรเสริญทรงพระเจริญ” ในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย

สำหรับกิจกรรมในวันที่ 14 กรกฎาคม จะมีการจัดการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา” จากศิลปิน นักร้อง นักแสดงมากมาย โดยเป็นละครเพลงเฉลิมพระเกียรติ ที่่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่่หัว ที่่มีต่อปวงชนชาวไทย ทุกหมู่่เหล่า และความจงรักภักดี น้อมสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของปวงชนชาวไทยที่่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับบทเพลงที่่ประพันธ์ขึ้นพิเศษ เพื่อใช้ในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ ในบทเพลงชื่่อ “เทิดไท้ทศมินทรราชา” การแสดงดนตรี “มหาดุริยางค์ 4 เหล่า” เป็นการแสดงร่วมกันของนักดนตรีจากกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมเล่นดนตรี 72 ชิ้น พร้อมขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการแสดงดนตรี “สดับคีตศิลป์ทศชาติชาดก” (10 พระชาติชาดก เฉลิมพระเกียรติ) เป็นการแสดงดนตรีโอเปร่า ทศชาติชาดก โดยนักแสดงและทีมงาน 120 คน นำเสนอเรื่องราวจาก 10 พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์โดยได้ยกคุณธรรมจากชาดกเรื่อง มหาชนกชาดก เนมิราชชาดก พระภูริทัตชาดกและเวสสันดรชาดกมาเล่าผ่านการแสดงละครเพลงโอเปร่ากำกับดูแลโดยอาจารย์สมเถา สุจริตกุล ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 สาขาศิลปะการแสดง (การประพันธ์เพลงร่วมสมัย) ส่วนเวทีย่อย มีการแสดงรำวงชาวบ้าน อ๊อด โฟร์เอส“ และบริเวณหน้านิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ มีการแสดง “ลีลาศ 772 คู่ขวัญ เทิดราชัน 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” เป็นการแสดงลีลาศ 772 คนในจังหวะบีกิน เพลงพรหมลิขิต โดยสมาพันธ์สตรีทำความดีแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ สำหรับในวันที่ 15 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน ขอเชิญชวนทุกท่านเดินทางมาร่วมกิจกรรมและชมการแสดง “สิงโตบนเสาดอกเหมย เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” และการแสดง “มังกรเบิกฟ้า 72 พรรษามหามงคล ใต้ร่มบรมโพธิสมภาร” นอกจากนี้ ยังมีการแสดงดนตรี “แผ่นดินธรรมแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี” นาฏศิลป์โขนสดใต้ร่มพระบารมี ตอน ศึกทศกัณฐ์ยกรบ และตอน ยักษ์บรรลัยกัลป์ออกศึก การแสดง “ศิลปะร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน” ที่สำคัญยังมีการแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ เรื่องราวเกี่ยวกับงานด้านวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด ปวงประชาแซ่ซ้องสรรเสริญ ทรงพระเจริญ” อีกด้วย

สำหรับกิจกรรมภายในงานที่มีตลอดทุกวันนั้น ประชาชนสามารถเข้าชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทศมินทรราชา 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” ขณะเดียวกันในส่วนเวทีย่อย ของวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2567 มีการแสดงพื้นบ้านจากเครือข่ายสมาคมศิลปินพื้นบ้านมาร่วมแสดงมายมาย อาทิ รำวงชาวบ้าน อ๊อด โฟร์เอส และการแสดงของศิลปิน เพียว The Voice เปาวลี พรพิมล และนิวคันทรี และทุกวัน ตั้งแต่เวลา 15.00 – 18.00 น. มีการแสดงว่าวเฉลิมพระเกียรติ เช่น ว่าวจุฬา ว่าวสาย ว่าวสามเหลี่ยม รวมกว่า 100 ตัว โดยนายปริญญา สุขชิต หรือ “ซุปเปอร์เป็ด” ที่เป็นผู้สืบสานและนักเล่นว่าวไทยระดับชาติ

อีกทั้งยังมีตลาดวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) จาก 76 จังหวัด ของดีสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร อาหารไทย อาหารถิ่น และผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวัฒนธรรมอื่นๆ การสาธิตอาหารในรูปแบบตลาดย้อนยุค เช่น อาหารไทยโบราณ อาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น และสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้แก่ นวดไทย ลงรักปิดทอง มาลัยจากกระดาษทิชชู่ จัดดอกไม้ แกะสลักผัก ผลไม้ ดินปั้น เขียนลายคราม การทำเครื่องหอมสมุนไพรและผ้าปักเชียงราย

ทั้งนี้ ชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเข้าร่วมชมงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารเฉพาะกิจให้บริการรับ – ส่งประชาชนเดินทางมาร่วมงานฟรี ระหว่างวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00 – 22.00 น. จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ 1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ฝั่งเกาะพญาไท) – สนามหลวง 2. สายใต้ใหม่ – สนามหลวง 3. หมอชิต – สนามหลวง 2 4. วงเวียนใหญ่-สนามหลวง 5. สนามหลวง – ท่าช้าง – ท่าเตียน (เดินรถวงกลม) โดยมีจุดจอดรับ – ส่ง บริเวณหน้าศาลฎีกา สอบถามรายละเอียดที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765
—–