ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการดูแลสุขภาพคนไทยเข้าร่วมพิธีฮัจย์ ณ ซาอุดีอาระเบีย เกือบ 3 เดือน รักษาผู้ป่วยนอก 6.2 พันคน พบมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจมากที่สุด ดูแลผู้ป่วยใน 189 คน ไม่มีผู้ป่วยตกค้างในโรงพยาบาลท้องถิ่น เดินทางกลับไทยแล้ว 5,140 คน ยังเหลือผู้พำนักอยู่ 2,593 คน ด้านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ส่งหนังสือขอบคุณร่วมออกออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพคนไทยในซาอุดีอาระเบีย
วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์จากสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย เดินทางไปร่วมดูแลชาวไทยมุสลิมที่ประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี 2567 ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประกอบด้วย แพทย์ 10 คน เภสัชกร 4 คน พยาบาลวิชาชีพ 24 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 4 คน รวมทั้งสิ้น 42 คน แบ่งเป็น 3 ชุด ชุดแรก 15 คน ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม – 28 มิถุนายน 2567 ชุดที่สอง 14 คน ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 10 กรกฎาคม 2567 และชุดที่สาม 13 คน ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 19 กรกฎาคม 2567 โดยระหว่างนี้ได้รับการประสานจาก นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ขอรับการสนับสนุนแพทย์ 2 คน และพยาบาล 3 คน เข้าร่วมโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน ให้คำแนะนําการรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น มอบยาสามัญประจำบ้านและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นแก่คนไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ ระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน และวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2567 และที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ระหว่างวันที่ 10 – 11 มิถุนายน 2567
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลสุขภาพคนไทยที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่นครเมกกะและเมืองมาดีนะห์ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม – 11 กรกฎาคม 2567 ดูแลผู้ป่วยนอก 6,282 คน โรคที่เข้ารับการรักษามากที่สุด 5 อันดับ คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน คออักเสบ ผิวหนังอักเสบ/ภูมิแพ้ผิวหนัง ตาแดง และโรคกระเพาะอาหาร ดูแลผู้ป่วยใน 189 คน ส่งต่อ 17 คน ปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยคนไทยตกค้างในโรงพยาบาลท้องถิ่น ส่วนศูนย์ประสานงานสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์ฯ ประจำนครมาดีนะห์ ได้ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพและติดตามเยี่ยมบ้านผู้ประกอบพิธีที่มีสถานะสุขภาพที่ต้องดูแลใกล้ชิด และกรณีที่โทรศัพท์เข้ามาแจ้งอาการเจ็บป่วย รวมถึงให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว โดยรณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัย รับประทานอาหารสุกใหม่ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งไม่พบผู้ประกอบพิธีที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง ทั้งนี้ มีผู้ประกอบพิธีที่เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว 5,140 คน เหลือผู้พำนักอยู่ 2,593 คน โดยอยู่ในนครเมกกะ 2,259 คน และเมืองมาดีนะห์ 334 คน
“ในส่วนโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด วันที่ 4 – 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีนักศึกษา แรงงาน และประชาชนชาวไทยและครอบครัว ที่พํานักในกรุงริยาดและเมืองใกล้เคียง ประมาณ 50 คนมารับบริการ ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตณ ณ กรุงริยาด ได้มีหนังสือขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนแพทย์ พยาบาล รวมทั้งยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งผู้มารับบริการต่างพึงพอใจและยินดีที่มีการจัดโครงการดังกล่าว โดยในอนาคตจะมีการประสานความร่วมมือจัดโครงการเพื่อดูแลคนไทยในต่างแดนเช่นนี้อีก” นพ.โอภาสกล่าว