กระทรวงสาธารณสุข และ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รองรับความต้องการบริการทางการแพทย์ของประชาชน รวมถึงการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยสู่การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์นานาชาติ และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กับ ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยมี นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 นพ.เกรียงศักดิ์ คำอิ่ม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ ศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และคณะผู้บริหารร่วมเป็นสักขีพยาน โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายยกระดับสถานบริการสาธารณสุขให้มีขีดความสามารถในการให้บริการมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดเป็นโรงพยาบาลหลัก/สมทบของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะและทัศนคติที่ดี มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานแพทยสภา ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก (ปีที่ 4-6) รวม 47 แห่ง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การลงนาม MOU ในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมุทรปราการ ในการจัดทำแผนพัฒนาการเรียนการสอนและการรับนักศึกษาแพทย์ เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมทั้งมีแผนรองรับการเพิ่มจำนวนนักศึกษาและอาจารย์แพทย์ รับนักศึกษาประมาณปีละ 40 คน โดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจะเป็นผู้กำกับการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหา หรือก่อสร้าง/ปรับปรุงสถานที่เรียน ที่พักนักศึกษาและอาจารย์แพทย์ รวมทั้งมอบค่าเล่าเรียนตามหน่วยกิต ที่ลงทะเบียนในระดับชั้นคลินิก (เหมาจ่าย) จำนวน 500,000บาทต่อนักศึกษาแพทย์หนึ่งรายต่อปี
ด้าน ภราดา บัญชา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติที่มีนักศึกษามากกว่า 90 ประเทศ ปัจจุบันมีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 3,000 คน มุ่งเน้นการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และมีมหาวิทยาลัยในเครือข่ายมหาวิทยาลัยคาธอลิคทั่วโลกที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนด้านวิชาการ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือประเทศในแถบยุโรป ซึ่งการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นเจตนารมณ์ของ ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ เพื่อผลิตแพทย์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้เจ็บป่วย ตอบสนองสังคมผู้สูงอายุของประเทศ รวมถึงร่วมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยสู่การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์นานาชาติ (Medical Service Hub) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) โดยร่วมมือกับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดคณะแพทยศาสตร์ขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์ St. Luke School of Medicine มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมไทยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตามเจตนารมณ์ของ ภราดา ดร. ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ ต่อไป