กรมควบคุมโรค รับการประเมินรางวัลเลิศรัฐ จากการบูรณาการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รับการประเมินผลรางวัลเลิศรัฐ ณ สถานที่ปฏิบัติงานจริง เพื่อยืนยันผลงาน ระดับดีเด่น จากผลงาน “การบูรณาการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (3 ฐาน)” ช่วยวิเคราะห์อุบัติเหตุ เข้าใจปัญหา พฤติกรรมเสี่ยง นำสู่การพัฒนามาตรการที่เหมาะสมในการบังคับใช้ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ต้อนรับทีมตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงาน ก.พ.ร. นำโดย ศ.(วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นางสาวดารัตน์ บริพันธกุล และ อ.ดร.ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์ พร้อมด้วยคณะ เพื่อตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทบูรณาการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เรื่อง “การบูรณาการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (3 ฐาน)” ซึ่งได้รับการพิจารณาอยู่ในเกณฑ์รางวัลระดับดีเด่น โดยการตรวจประเมินครั้งนี้เพื่อยืนยันผลการพิจารณารางวัล จากการตรวจในพื้นที่ปฏิบัติงาน (Site Visit)

นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า “การบูรณาการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (3 ฐาน)” เป็นการบูรณาการฐานข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กรมการขนส่งทางบก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการและติดตามประเมินผล ภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ให้จัดทำข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นเอกภาพ โดยใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1. ใบมรณบัตรที่ผ่านการตรวจสอบสาเหตุการตายจากหนังสือรับรองการตาย ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2. ฐานข้อมูล คดีจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ 3. ผู้เสียชีวิตจากที่เบิกค่าสินไหมทดแทนของบริษัท กลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า จากปัญหาที่ประเทศไทยไม่มีข้อมูลอ้างอิงจำนวนผู้เสียชีวิต และข้อมูลที่รายงานแตกต่างจากข้อมูลประมาณการขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมาร่วมมือกันเพื่อหาจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกับขนาดของปัญหา รวมถึงสามารถติดตามสถานการณ์ปัญหาได้อย่างถูกต้อง จนเมื่อดำเนินการสำเร็จมีข้อมูลผู้เสียชีวิต ที่บ่งบอกขนาดปัญหาที่แท้จริง ใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ปัญหาของปะรเทศไทย และเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก