จากกรณี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เรือประมงไทย จำนวน 4 ลำ มีลูกเรือทั้งหมด 19 ราย ถูกทางการมาเลเซีย จับกุมในข้อหา “ผ่านน่านน้ำภายในโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 16 (3) Akta Perikanan 1985” และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา หลัง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งประสานสำนักงานประสานงานชายแดนไทยมาเลเซีย ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ กองทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานในพื้นที่ให้เร่งให้การช่วยอย่างเต็มที่
วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ ท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 ท่าสะอ้าน จังหวัดสงขลา นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังได้รับการรายงานจากนายจรูญศักดิ์ เพชรศรี ผู้ตรวจราชการกรม ว่า เมื่อเวลา 08.00 น. เรือประมงไทยที่ถูกจับกุมไป ทั้ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือทรัพย์รุ่งเจริญชัย 31 เรือลูกเจี๊ยบ 89 เรือ ล.ทวีทรัพย์ 29 และเรือวีระประมง 999 ซึ่งมีลูกเรือทั้งหมด 19 คน ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว โดยกรมประมง พร้อมด้วย สหวิชาชีพ ทั้ง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินการตรวจเรือ ตามมาตรการแจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมง PIPO ซึ่งจากการสอบถามลูกเรือ มีกำลังใจดี และกล่าวขอบคุณทางการไทยที่ได้ให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ได้มอบหมายให้กรมประมงนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบเป็นขวัญกำลังใจและฝากความห่วงใยให้กับลูกเรือทั้ง 4 ลำด้วย พร้อมเน้นย้ำให้อำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามกฎหมายของทุกหน่วยงาน และเร่งดำเนินการเพื่อให้เรือออกทำการประมงได้โดยเร็ว
สำหรับกรณีดังกล่าว เรือประมงทั้งหมดซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในฝั่งอันดามัน ได้เดินทางออกจากภูเก็ต เพื่อจะมาทำการประมงในฝั่งอ่าวไทย เมื่อช่วงวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 และเรือประมงทั้ง 4 ลำ มีความประสงค์ที่จะเดินทางผ่านน่านน้ำมาเลเซีย เพื่อเข้าสู่พื้นที่ทะเลอ่าวไทย จังหวัดสงขลา แต่เนื่องจากช่วงดังกล่าวประสบกับคลื่นลมแรง และเรือเครื่องยนต์ขัดข้อง เป็นเหตุให้เรือประมงถูกซัดเข้าไปในเขตน่านน้ำประเทศมาเลเซีย ณ บริเวณเกาะติโอมัน จึงได้ถูกหน่วยยามฝั่งมาเลเซีย (Malaysian Maritime Enforcement Agency : MMEA) เข้าควบคุม ซึ่งเมื่อทางกองทัพเรือได้รับการแจ้งขอความช่วยเหลือมา จึงได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ กรมประมง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และสำนักงานประสานงานชายแดนไทยมาเลเซีย ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 4 ฯลฯ เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือเป็นการด่วน
กรมประมงจึงได้นำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ซึ่งเมื่อท่านทราบเรื่อง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้กรมประมงได้เร่งตรวจสอบข้อมูลเส้นทางการเดินเรือจากระบบติดตามเรือ VMS จากศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (Fisheries Monitoring Center : FMC) และข้อมูลการแจ้งออก จากศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง ของกรมประมง ซึ่งจากเอกสารแจ้งออกมีการกำหนดวัตถุประสงค์กลับภูมิลำเนา ข้อมูลเอกสารการขอย้ายเรือข้ามฝั่งของเรือทั้ง 4 ลำ อย่างชัดเจน จึงสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันถึงพฤติการณ์การเดินเรือและการทำการประมงของเรือทั้ง 4 ลำ ที่ชี้ชัดว่าการรุกล้ำน่านน้ำเข้าไปในมาเลเซียนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจกระทำความผิด ซึ่งท่านรัฐมนตรีฯ จึงได้รีบประสานไปยังสำนักงานประสานงานชายแดนไทยมาเลเซีย ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ กองทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานในพื้นที่ให้เร่งให้การช่วยเหลือโดยด่วน จนกระทั่งทางการมาเลเซียยอมปล่อยตัวแรงงานและเรือทั้งหมด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 และได้ส่งกลับมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการทำงานของศูนย์ FMC ที่จะมีการติดตามเฝ้าระวังการทำการประมงแบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือ เจ้าของเรือสามารถตรวจสอบและติดตามการเดินเรือได้ หากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นก็สามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ เรือทั้ง 4 ลำ กลับมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างกำลังยื่นเพื่อขออนุญาตทำการประมงในฝั่งอ่าวไทย สำหรับกรณีนี้ ท่านรัฐมนตรีฯ ธรรมนัส ได้เร่งสั่งการให้กรมประมงปรับปรุงระเบียบใหม่ เพื่อให้การย้ายฝั่งทำการประมงสำหรับเรือที่ได้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว สามารถย้ายฝั่งได้ตลอดทั้งปี ทุกประเภทเครื่องมือ ให้เหมาะสมตรงกับบริบทที่แท้จริงของชาวประมง โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่เกินโควตาปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ใหม่ ส่วนเรื่องของวันทำการประมงให้ได้รับวันทำการประมงเท่ากับจำนวนวันทำการประมงปกติของเรือในพื้นที่ที่ขอย้ายไป แต่ต้องไม่มากกว่าจำนวนวันที่ได้รับอยู่เดิม ซึ่งเรื่องนี้ กรมประมงได้ออกประกาศกรมประมง เรื่อง หลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนพื้นที่การทำการประมง แล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 พร้อมได้นำส่งไปเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป…อธิบดีฯ กล่าว