กรมการแพทย์แผนไทยฯ ชู 2 อัตลักษณ์ “สมุนไพรประจำจังหวัด” และ “นวด 4 ภาค”

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดตัวสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อนำไปศึกษา วิจัย พัฒนาต่อยอด สู่การเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ และใช้ในการแพทย์และสุขภาพ สร้างงาน สร้างอาชีพ และ เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน พร้อมโชว์อัตลักษณ์นวดไทย 4 ภาค ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า แนวคิดริเริ่มสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด เป็นนโยบายที่ต้องการส่งเสริมการใช้สมุนไพรดูแลสุขภาพ สร้างงาน สร้างอาชีพ และ เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ล่าสุด ทางกรมฯเฟ้นหา คัดเลือกสมุนไพรอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละจังหวัด โดยมีกลไกประสานไปยัง กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ ร่วมกับ ผู้ทรงคุณวุฒิ หมอพื้นบ้านแต่ละจังหวัดให้ศึกษาค้นคว้า ว่า มีสมุนไพรที่โดดเด่นกี่ประเภท สำหรับแนวทางในการพิจารณาเลือกสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด คัดเลือกสมุนไพร GI สมุนไพรที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ สมุนไพรที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ สมุนไพรสร้างเศรษฐกิจ เป็นที่รู้จัก กันดีของตลาด ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ก็ร่วมพิจารณาคัดเลือกแล้วจัดทำเป็นข้อมูลทางวิชาการ ด้านสารสำคัญ และ งานวิจัยเสริมเข้าไป

เมื่อได้สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดครบแล้ว จะมีการส่งเสริมการผลิตสมุนไพรชนิดนั้นๆ ให้ได้ตามมาตรฐานของการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ เนื่องจากพืชบางชนิดหายากและมีเฉพาะในธรรมชาติเท่านั้น อาทิ โลดทะนงแดง การใช้จากป่าเป็นสมุนไพรอยู่เฉพาะธรรมชาติแถบป่าติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เท่านั้น มีการปลูกที่ยากมาก จึงให้โลดทะนงแดง เป็นสมุนไพรอัตลักษณ์ของ จ.สุรินทร์ มีแผนว่าจะทำอย่างไรให้ลดการเก็บจากธรรมชาติแล้วหันมาส่งเสริมการปลูกทดแทนธรรมชาติ ซึ่งสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด สอดคล้องกับการนำไปใช้กับภูมิปัญญาการนวดพื้นบ้านที่เป็น อัตลักษณ์ของ4 ภาค ที่นำมาจัดแสดงในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 อีกด้วย

ทางด้าน ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและ แพทย์พื้นบ้านไทย เปิดเผยว่า หากกล่าวถึงการนวดอัตลักษณ์นำมาจัดแสดงในโซน Wisdom (ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย) ในรูปแบบการจัดงาน คือ บ้าน วัด โรงเรียน หรือ บวร บ้าน องค์ความรู้แพทย์แผนไทยเริ่มจากหมอพื้นบ้าน ซึ่งหมอพื้นบ้าน ในโซน Wisdom มีการนำเสนอการนวดทั้ง 4 ภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ซึ่งการนวดหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่องค์ความรู้และการรักษาประยุกต์มาจากภูมิปัญญาและวิถีชีวิต ในโซนนี้จะเป็นอัตลักษณ์หมอพื้นบ้าน เช่น ภาคเหนือ : นวดตอกเส้น เป็นภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพของชุมชนในแถบภาคเหนือที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน เป็นอีกองค์ความรู้หนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นจุดหรือเส้นที่สำคัญในร่างกายของคน โดยการใช้อุปกรณ์ลิ่มและค้อน นำมาตอกตามกล้ามเนื้อเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ภาคกลาง : นวดเหยียบเหล็กแดง วิถีชีวิตการทำไร่ ทำนา โดยมี ผาญ เป็นอุปกรณ์ทำงานเกษตรมาเผาให้เกิดความร้อน ใช้เท้าจุ่มน้ำมันงาหรือน้ำมันมะพร้าวและเหยียบบนแผนเหล็ก จากนั้นเหยียบนวดบริเวณร่างกายตามจุดที่ปวดเมื่อยเพื่อให้กล้ามเนื้อที่ตึงผ่อนคลาย ภาคอีสาน: การนวดขิดเส้น ด้วยวิถีชีวิตชาวนา ชาวไร่ การขิดเส้นประยุกต์มาจากการขิดผ้า โดยการใช้นิ้วหัวแม่มือกดบนเส้นด้านหนึ่ง เขี่ยตวัดนิ้วหัวแม่มือขึ้นไปคนละด้านตามแนวเส้น ทำให้เส้นคลายอ่อนตัว รู้สึกสบาย และหายปวด ภาคใต้ : นวดน้ำมันลังกาสุกะ องค์ความรู้เฉพาะจากแถบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการนวด คลึง รีด และ ดึง ร่วมกับการใช้น้ำมันนวดสูตรลังกาสุกะ โดยมีจุดเริ่มต้นที่หน้าท้องจบที่ศีรษะ
ในส่วนองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่มาจากวัด ทางคณะผู้จัดได้นำเสนอองค์ความรู้เรื่องนวดไทย จากวัดสามพระยา ซึ่งมีเรื่องราวใกล้เคียงกับ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ลักษณะในการนวดคล้ายกับการนวดเชลยศักดิ์ เพื่อเป็นการสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ว่าองค์ความรู้ด้านการนวดไทยมีรากฐานมาจาก บ้าน วัด และ เข้าสู่โรงเรียน ภายในงาน เชิญสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งมีนักศึกษาฝึกงานมาให้บริการ นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้ด้านการนวดไทย ไปต่อยอด ความเฉพาะอีก 3 ด้าน ได้แก่ การนวดผู้มีบุตรยาก การนวดปรับสมดุลธาตุ และ การนวดไทยสำหรับนักกีฬา ทั้งหมดนี้อยู่ในโซนwisdom

การจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ในปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก” ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฏาคม 2567 ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 6 โซน ได้แก่ โซนวิชาการ มีการประชุมและสัมมนาด้านแพทย์แผนไทยฯ โซน Service มีคลินิกให้คำปรึกษา ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยฯ โซน Wisdom การนวดอัตลักษณ์ไทยและสมุนไพรอัตลักษณ์จาก 76 จังหวัด โซน Product ให้คำปรึกษาเรื่องการส่งออกและภาพรวมตลาดสมุนไพร โซน Wellness ให้บริการนวดไทย โชว์โมเดลสปาเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และโซน Innovation แจกต้นพันธุ์และเมล็ดพันธุ์สมุนไพรฟรีวันละ 1,000 ชิ้น เป็นต้น สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร.02 591 7007, อินสตาแกรม, TIKTOK, Facebook Fanpage มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติหรือ Website: https://natherbexpo.dtam.moph.go.th ,Line ID : @DTAM