1.สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งและมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้
คาดการณ์ : วันที่ 8 – 11 ก.ค. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 49% ของความจุเก็บกัก (39,707 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 27% (15,544 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ : ภูมิพลและสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคตะวันตก: ปราณบุรี
3. คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร
– แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ : สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 3 – 8 ก.ค. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนาม ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง ได้แก่
ภาคเหนือ จ.ตาก สุโขทัย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม
ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง ยะลา และนราธิวาส
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ :
วานนี้ (5 ก.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม บ้านหัวควน หมู่ที่ ๕ ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต โดยสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการวางแผนการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่มทั้งระบบครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานส่วนกลางและในพื้นที่ร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยการจัดทำฝายแบบขั้นบันได รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมถึงการทำเส้นทางระบายน้ำ (Floodway) เพื่อบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ และช่วยในการผลักดันน้ำและระบายน้ำป้องกันการเกิดอุทกภัยในทุกพื้นที่และให้ตั้งศูนย์แจ้งเตือนและอุปกรณ์เตือนภัยน้ำหลาก ดินถล่ม ทุกพื้นที่เสี่ยงโดยใช้ข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณีวิทยาเป็นข้อมูลในการดำเนินงานต่อไป
6. สถานการณ์อุทกภัย : เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 67 เกิดสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นครพนม ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ และ จ.ขอนแก่น (อ.เมืองขอนแก่น)เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องทำให้ฝายพังชำรุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการซ่อมแซมฝายน้ำล้นที่ชำรุด ให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป