คกก.พัฒนานโยบายฯ ร่วมพิจารณาร่าง “มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ลดโรคไม่ติดต่อ” เดินหน้าปรับเนื้อหาหลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น-ได้ข้อเสนอต่างๆ จากภาคีเครือข่าย ก่อนนำเข้าสู่เวทีสมัชชาฯ เพื่อรับรอง-กล่าวถ้อยแถลงร่วมกัน 5 ส.ค.นี้ พร้อมวางโรดแมปขับเคลื่อนต่อเนื่องสู่การบรรลุเป้าหมายลดโรค NCDs ด้วยแรงจูงใจ “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม”
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ซึ่งมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธาน จัดการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2567 เพื่อร่วมกันพิจารณา (ร่าง) มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ที่เตรียมนำเข้าสู่การรับรองและกล่าวถ้อยแถลงร่วมกันในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 ส.ค. 2567
นพ.โสภณ เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการพิจารณาเพื่อปรับปรุงเนื้อหาของร่างมติฯ หลังจากที่ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงทิศทางนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ ที่จะเป็นการระบุถึงภาพกว้างหรือสภาพแวดล้อม (Ecosystem) รอบตัวที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCDs) บนพื้นฐานของการใช้หลัก ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ด้วยการสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษีสำหรับคนหรือองค์กรที่มีการส่งเสริม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพไปในทางที่ดี เป็นต้น
ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้ขึ้น เพราะปัจจุบันเราต่างเห็นแล้วว่าปัญหาโรค NCDs ยังคงมีความรุนแรง และไม่สามารถควบคุมได้โดยหน่วยงานสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว ทิศทางนโยบายนี้จึงจะนำเอาทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันมีบทบาท ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ กดดันทางสังคมในเชิงบวก เป็นต้น ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นพบว่าแต่ละภาคส่วนต่างเห็นตรงกันถึงหลักการโดยทั่วไป แต่ในรายละเอียดยังต้องการให้มีความชัดเจน เช่น จะใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่างไร ระบบนิเวศจะมีอะไรบ้าง ตลอดจนการปรับถ้อยคำของนโยบายสาธารณะ ที่จะเข้าใจได้ง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติร่วมกันได้จริง
“ส่วนแนวทางหลังจากที่สมัชชาสุขภาพฯ รับรองมตินี้แล้ว เราก็จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหลังผ่านจุดนั้นเราก็ได้เตรียมการถึงโรดแมปที่จะขับเคลื่อนร่วมกันต่อ รวมถึงเป้าหมายตัวชี้วัด และระบบการกำกับติดตามข้อมูล เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์และเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไปได้ว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างไร ยังมีความเสี่ยงอะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตลอดจนการหาโมเดลการดำเนินงานจากแต่ละชุมชน องค์กร เพื่อที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในอนาคตต่อไป” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อํานวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้น ซึ่งมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์รวมกว่า 300 คน ต่างมีความเห็นด้วยกับภาพรวมของทิศทางนโยบายนี้ อย่างไรก็ตามได้มีข้อคิดเห็นถึงการเพิ่มความชัดเจนของขอบเขตและนิยามคำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built environment) หรือระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เข้าใจได้ตรงกันมากขึ้น รวมถึงเสนอความครอบคลุมกลุ่มประชากร ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการ NCDs ของประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมกันให้ข้อเสนอต่างๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กลไกภาษีความเค็ม การกำหนดเพดานโซเดียม การแบ่งสีฉลากอาหารเขียวเหลืองแดง การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น สนับสนุนจัดสรรงบประมาณให้กับกิจกรรมสุขภาพ เฝ้าระวังและกำกับติดตามการขายอาหารทำลายสุขภาพ ส่งเสริมการผลิตอาหารสุขภาพให้มีราคาถูกลง การให้ความรู้แก่ผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายอาหารขนาดเล็ก และขยายความครอบคลุมไปถึงสตรีทฟู้ด เป็นต้น ตลอดจนข้อเสนอต่อปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน มาตรการลดฝุ่น PM2.5 ในชุมชน การทำผังเมืองเพื่อสุขภาวะ ฯลฯ
ขณะที่ ศ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ กล่าวว่า อีกส่วนสำคัญที่ควรจะถูกพูดถึงในการลดโรค NCDs คือการจัดการความเครียด (Stress Management) และความสัมพันธ์ที่ดี (Healthy Relationship) ซึ่งถือเป็นอีก 2 ปัจจัยสำคัญทางด้านสุขภาพจิต ที่จะส่งผลต่อภูมิต้านทานของร่างกาย และเป็นปัญหากับการจัดการโรค NCDs ได้ โดยเรื่องนี้ถือเป็นหลักของเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ที่มีการออกแบบและใช้มากว่า 30 ปีในต่างประเทศ
“เรามีมาตรการเกี่ยวกับอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการเหล้า บุหรี่ แต่เรายังขาดการจัดการกับความเครียด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการควบคุมโรค NCDs จึงอยากให้มีในเรื่องนี้ด้วย และหลักของ Lifestyle Medicine คือเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่สำเร็จเลย ถ้าผู้ที่ได้รับการรักษาไม่มีแรงขับเคลื่อนทางความคิดที่อยากจะเปลี่ยนเอง ตรงนี้จึงอาจมีเรื่องของเทคนิคในการกระตุ้น หรือ Motivation Interview ที่จะช่วยให้คนอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ โดยพวกนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต ซึ่งเราผลิตแพทย์ด้านนี้ไปแล้วประมาณ 300 คน” ศ.พรเทพ ระบุ
ด้าน นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อํานวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สำหรับเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น ซึ่งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะได้เข้ามาร่วมกันรับรอง พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในการขับเคลื่อนมติฯ ดังกล่าวร่วมกันต่อไป
นายสมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากการสรุปและรับรองมติร่วมกันในเวทีสมัชชาสุขภาพฯ แล้ว ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ยังจะมีการจัดทำเส้นทางเดิน หรือโรดแมปมติสมัชชาสุขภาพฯ นี้ เพื่อเป็นกรอบในการขับเคลื่อนต่อไป บนองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ 1. พิจารณาบทบาทภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. กำหนดเป้าหมายของมติตามสาระสำคัญประกอบทิศทางนโยบาย 3. พิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของมติร่วมกัน