กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยคำแนะนำศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) เป็นแนวทางการให้วัคซีนป้องกันโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปี 2567- 2568 ซึ่งสามารถให้ได้ในครั้งเดียวกันและปลอดภัย วัคซีนมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของอาการจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต
วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อไม่นาน มานี้ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกคำแนะนำแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2567-2568 (เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567) ซึ่งเป็นคำแนะนำสำหรับประชาชน ในสหรัฐอเมริกา โดยแนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรรับวัคซีนโควิด 19 เพื่อลดความรุนแรงของอาการจากภาวะแทรกซ้อน และการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แนะนำให้กลุ่มเสี่ยง ดังนี้ 1.หญิงตั้งครรภ์ 2.เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปซึ่งในปี 2567 – 2568 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ คือ H1N1 H3N2 และ B/Victoria ทั้ง 2 วัคซีนสามารถฉีดได้ในครั้งเดียวกัน และมีความปลอดภัยช่วยลดความรุนแรงของอาการจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ในปี 2566 ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 916,300 ราย และมีผู้เสียชีวิต มากกว่า 75,500 ราย โดยในปีเดียวกันประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 28,503 ราย และมีผู้เสียชีวิต 702 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป สาเหตุหลักจากลูกหลานพาเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำประชาชนที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือสงสัยป่วยไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แยกตัว ไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่นและรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เนื่องจากหากกลุ่มดังกล่าวติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยประเทศไทยได้มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นประจำ ทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์การระบาดทุกปี เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้โดยประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6.โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือมี ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ 7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้ารับบริการ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422