วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทยเรา โดยมีเป้าหมายเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการอุตสาหกรรม Soft Power ระดับโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมการพัฒนา Soft Power ของไทย ซึ่งอุตสาหกรรมด้านการออกแบบเป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ Thailand creative content agency (THACCA) กับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2567
“ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการขับเคลื่อนและผลักดันยุทธศาสตร์ Soft Power ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยทั้งหมดสามารถมีส่วนร่วมได้ ด้วยศักยภาพของทุกคนที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรม ฝีมือและเป็นเวทีในการแสดงออก ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีโอกาสพบปะและหารือกับทีมงานศิลปินไทยผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของคนไทย อาทิ นางสาวนิสา ศรีคำดี ศิลปินคนไทยคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ Pop Mart ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานคาแร็กเตอร์ Crybaby อาร์ตทอยคาแรกเตอร์ที่เป็นเด็กผู้หญิงผมสั้นผู้มีน้ำตาคลอเบ้าอยู่ตลอดเวลา สัญลักษณ์ของความเสียใจและความสุข ผลงานการสร้างสรรค์ของ Crybaby Molly” ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมากที่ศิลปินไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนและผลักดันศิลปินไทย มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่สร้างผลงาน และมีเวทีในการแสดงผลงานมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรมในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ได้มอบหมายสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ขยายผล การส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยทั้งการผลิตศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่และส่งเสริมตลาดศิลปะร่วมสมัย โดยการดำเนินการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ด้วยการสร้างความร่วมมือกับศิลปินศิลปะร่วมสมัยทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่และศิลปิน ART TOY ให้มากขึ้น เพื่อเชิญมาเป็นวิทยากรอบรมถ่ายทอดความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่นักศึกษา ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย นอกจากนี้ ได้ให้จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยระหว่างนักศึกษาไทยกับนักศึกษาต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานระหว่างกันทำให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานในต่างประเทศและนักศึกษาต่างชาติมาแสดงผลงานในไทย ส่งผลให้ผลงานของนักศึกษาในโครงการนี้ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ ช่วยเพิ่มโอกาสจำหน่ายผลงาน รวมทั้งเห็นด้วยกับการที่ สศร. จะฟื้นฟูโครงการ Art Market ตลาดนัดศิลปะในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ศิลปินมีพื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายผลงาน ทำให้มีกำลังใจสร้างสรรค์ผลงานและมีรายได้