วันที่ 27 สิงหาคม 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ การใช้โปรแกรมให้การปรึกษาตามแนวทางจิตสังคมบำบัดแบบผสมผสาน สำหรับผู้มีปัญหาพนัน (Model of Combined Behavioral Intervention for Gambling disorder : CBI) ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า ในเรื่องของปัญหาการพนันนั้น ทางกรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาโดยตลอด ซึ่งอยู่ในภารกิจของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต จากสถิติสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า ในช่วงปี 2559 – 2562 มีจำนวนผู้โทรศัพท์มาขอรับบริการปรึกษาปัญหาพนัน เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า โดยพบได้ในวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ สาเหตุส่วนใหญ่ที่เล่นการพนัน พบว่า อยากได้เงินเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้ว และการเล่นการพนันออนไลน์ สามารถทำให้เข้าถึงการพนันได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อตนเอง เช่น การเป็นหนี้ หรือปัญหาสุขภาพจิต และส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ทำให้เกิดความเครียดกับครอบครัวหรือคนรอบข้างในการดูแลและรักษาผู้ที่มีปัญหาพนัน ซึ่งมีแนวทางในการดูแลรักษาที่หลากหลาย แต่เดิมการบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมมีประสิทธิผล ทำให้ลดปัญหาการพนันลงไปได้ในระดับหนึ่ง และได้มีการพัฒนาต่อยอดผสมผสานระหว่างการให้การปรึกษาแบบเสริมสร้างแรงจูงใจ การบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม การบำบัดแบบกาย จิต สังคมบำบัด รวมเข้าด้วยกันเป็นโปรแกรมให้การปรึกษา เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาการพนันได้หลายมิติมากขึ้น
ด้านแพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ดำเนินโครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญให้การปรึกษาในปัญหาพนัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปี 2561 การให้การปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ให้การปรึกษา ผู้มีปัญหาพนัน โดยใช้โปรแกรมการบำบัดแบบสร้างเสริมแรงจูงใจ (Motivational Enhancement Therapy : MET) พบว่า สามารถให้การช่วยเหลือผู้มีปัญหาพนันที่อยู่ในระดับน้อยและปานกลางได้ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาพนันอยู่ในระดับรุนแรง จำเป็นต้องได้รับรูปแบบการบำบัดรักษาทั้งเชิงจิตใจและสังคมแบบผสมผสาน ซึ่งทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ จึงได้พัฒนาโปรแกรมการให้การปรึกษา เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่มีปัญหาพนันระดับรุนแรง ให้สามารถเลิกเล่นการพนันให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้
ทั้งนี้ การจัดประชุมครั้งนี้มีขึ้นมาเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่ายผู้ให้การปรึกษาสุขภาพจิต โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมซึ่งเป็นบุคลากรในสังกัดกรมสุขภาพจิต จำนวน 60 คน ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะ ในการให้การปรึกษาและการบำบัด เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่มีปัญหาการพนัน สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุข