จากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า ทำให้เมืองขยายตัว เกิดชุมชนแออัด ชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีทั้งเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน ห้องเช่า บ้านเช่า และชุมชนบุกรุกที่ดินมากมาย นอกจากนำมาซึ่งความเจริญในเมืองใหญ่ ยังแลกมาด้วยผลกระทบต่อชุมชนเมืองมากมายหลายด้าน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงสวัสดิการและทรัพยากร กลายเป็นปัญหาชุมชนแออัด มีหนี้สิน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ยังไม่รวมถึงชุมชนได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อชุมชนและเวนคืนที่ดินจากนโยบายการพัฒนาเมือง เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาความมั่นคงในการอยู่อาศัย พร้อมทั้งยังขาดการจัดการด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มคนเปราะบางในเมือง จึงกลายเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
ความเป็นมาของการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย
ที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชีวิตและการพัฒนาเมือง ทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคม การเข้าถึงสิทธิการพัฒนาและโอกาสในการพัฒนา ซึ่งแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ครอบคลุม ยั่งยืนและยืดหยุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ยังคงปรากฏให้เห็นทั้งในเอเชียและประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงโอกาส นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในการอยู่อาศัย การถูกไล่รื้อ แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ การแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่มักเป็นการจัดการโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นไปตามกลไกการตลาด ที่คนจนไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้จะมีการผลิตที่อยู่อาศัยเพิ่มเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การผลิตที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังมุ่งเน้นด้านกายภาพ โดยไม่คำนึงถึงการสร้างโครงสร้างทางสังคมของผู้อยู่อาศัย รูปแบบเหล่านี้นำไปสู่ความเป็นปัจเจกของผู้คนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในเมืองที่กำลังเติบโต
การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน (Collective Housing ) ซึ่งพัฒนาตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย ได้กลายเป็นทางเลือกสำคัญที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม ไปพร้อมๆกับการสร้างระบบชุมชนและสังคม โดยมีผู้อยู่อาศัยเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก “การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน” ได้รับการพัฒนามาอย่างยาวนานต่อเนื่อง พร้อมๆกับการขับเคลื่อนเรื่องสหกรณ์ที่อยู่อาศัย ซึ่งดำเนินการอย่างกว้างขวางในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา
การประชุมนานาชาติ เรื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
การประชุมนานาชาติ เรื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน หรือ Collective Housing เป็นการรวบรวมความรู้ ประสบการณ์ รูปธรรมความสำเร็จในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และประเทศต่างๆ ในเอเซียแปซิฟิกไม่น้อยกว่า 13 ประเทศ เพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และสร้างทิศทางการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต พร้อมทั้งนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย แผนงานและแนวทาง ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง การประชุมครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง สังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ที่นำไปสู่ความยั่งยืน
ทิศทางแผนงานการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน
การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เป็นกลไกเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบทที่สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยราคาถูก สร้างพลังร่วมในการพัฒนา โดยการสร้างเวทีร่วมในชุมชนเพื่อเชื่อมโยงทรัพยากร ความรู้ ความสามารถ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถจัดระบบครอบคลุมการพัฒนาชีวิตในด้านต่างๆทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น สวัสดิการชุมชน สุขอนามัย ความมั่นคงทางอาหาร สภาพแวดล้อม และโอกาสในการทำมาหากิน เป็นต้น ผ่านกระบวนการตัดสินใจร่วม การทำงานร่วมกับกับหน่วยงานภาคีต่างๆในพื้นที่ ให้กลุ่มผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เพื่อให้มั่นใจว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้แก้ไขปัญหาให้ประชาชนผู้ยากไร้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทั้งในชนบทและเมืองไปแล้วกว่า 200,000 ครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นบ้านมั่นคง การซ่อมสร้างบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมหรือบ้านพอเพียงชนบท การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนริมชายฝั่งทะเล คนไร้บ้าน รวมกว่า 3,000 ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เป็นเข็มทิศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม มีเป้าหมาย 1,300,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อคนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ระบุว่า โครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมชุมชนทั้งหมดของเมือง มีการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อน และใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาเชิงรุก จัดทำแผน แนวทาง และรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลายตามสภาพปัญหาของชุมชน และแผนการพัฒนาเมือง รวมทั้งยังเน้นให้เกิดกระบวนการทำงานและจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนและท้องถิ่น โดยมีกลไกการทำงานร่วมกันเป็นคณะกรรมการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย เทศบาล ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันวางแผนและพัฒนาชุมชนแออัด
พอช. จะสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น อยู่ในที่ดินบุกรุกทั้งของรัฐและเอกชน ที่ดินเช่า บ้านเช่า เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ฯลฯ รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เช่น จัดหาที่ดินใหม่ โดยเช่าหรือซื้อ เพื่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ หรือซ่อม สร้าง ปรับปรุงบ้านใหม่ในที่ดินเดิม ฯลฯ ตามสภาพปัญหาของแต่ละชุมชน พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่ม จัดตั้งคณะทำงานจากชุมชนขึ้นมาเพื่อดำเนินการ ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมกันออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน และจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล นอกจากนี้ พอช. ยังมีหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินแก่ชุมชน เช่น ให้สินเชื่อซื้อที่ดิน ก่อสร้างบ้าน ที่มีดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนระยะยาว อุดหนุนงบประมาณการสร้างบ้าน สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง โดย พอช. จะอนุมัติงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมา ที่ไม่ได้อนุมัติเป็นรายบุคคล และคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จะร่วมกันบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ
เป้าหมายการประชุมนานาชาติ เรื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน
เป้าหมายในการประชุมนานาชาติ เรื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน คือการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ที่ดำเนินการอยู่ในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ สนับสนุนการร่วมมือระดับภูมิภาค พัฒนากรอบและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ด้วยการใช้แนวทางพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การพัฒนารูปแบบการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เพิ่มพูนความรู้และศักยภาพให้ผู้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ผ่านการจัดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำชุมชนและผู้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่จากประเทศต่างๆในเอเซีย การแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานในพื้นที่ ผลักดันให้เกิดวาระการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อแนวทาง นโยบาย ขององค์กร หน่วยงาน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน “คำตอบคือชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ไขปัญหาควายากจน สร้างคนและชุมชนที่เข้มแข็ง กุญแจสู่ความยั่งยืน”
สำหรับการประชุมนานาชาติ เรื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน : คำตอบคือชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ไขปัญหาความยากจน สร้างคนและชุมชนที่เข้มแข็ง กุญแจสู่ความยั่งยืน จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Convention Center – UNCC) ส่วนในวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเซีย และองค์กรร่วมจัด วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ หน่วยงานภาคีร่วมจัด UN-ESCAP, UN-HABITAT, International CO-Habitat Network, Development