สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์กรณีธาตุหายาก (Rare Earth Elements : REEs) สหรัฐฯ-จีน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนอาจมีมาตรการจำกัดการส่งออกธาตุหายากไปยังสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ เพิ่มชื่อของบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมสัญชาติจีน เข้าไปในรายชื่อบริษัทที่บริษัทอเมริกันไม่สามารถทำการค้าขายด้วยได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล
ธาตุหายากมีความสำคัญในการใช้ผลิตสินค้าที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเพื่อการบริโภค การอุตสาหกรรม การทหาร การผลิตสมาร์ทโฟน เครื่องมือการสื่อสาร การผลิตแบตเตอรี รวมถึงเครื่องบินขับไล่ รถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนของอากาศยาน โดยในปี 2561 ประเทศที่สามารถผลิตแร่หายากได้มากที่สุดคือ จีน สัดส่วนร้อยละ 70.59 ของการผลิตโลก รองลงมา ได้แก่ ออสเตรเลีย ร้อยละ 11.76 และ สหรัฐฯ ร้อยละ 8.82 ในขณะที่ไทยมีกำลังการผลิตเป็นลำดับที่ 8 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.59 (กรมสำรวจธรณีวิทยาแห่สหรัฐอเมริกา, 2562)
ในส่วนของการนำเข้าแร่หายากของสหรัฐฯ กรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) รายงานว่า ในช่วงปี 2557-2560 สหรัฐฯ นำเข้าแร่หายากจากจีนถึงร้อยละ 80 รองลงมาเป็นเอสโตเนีย ร้อยละ 6 ฝรั่งเศส ร้อยละ 3 และญี่ปุ่น ร้อยละ 3 และในปี 2561 สหรัฐฯ นำเข้าแร่หายากจากจีน คิดเป็นมูลค่ารวม 113.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การจะใช้แร่หายากเป็นข้อต่อรองในสงครามการค้าของจีน เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ได้คาดการณ์ไว้บ้างแล้ว ซึ่งจีนเคยลดโควตาส่งออกแร่หายากให้ญี่ปุ่น ในปี 2553 และเคยลดการส่งออกแร่หายากให้สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ในปี ๒๕๕๕ ดังนั้นหากจีนจำกัดการส่งออกแร่หายากไปสหรัฐฯ จริง ในระยะสั้นอาจไม่กระทบต่อสหรัฐฯ มากนักเนื่องจากยังคงมีแร่หายากสำรองไว้อยู่ แต่ในระยะยาวการที่จีนลดการส่งออกลง อาจทำให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นให้สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ หันไปทำเหมืองแร่เอง อย่างไรก็ดี แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีการพึ่งพาการนำเข้าแร่หายากจากจีนค่อนข้างสูงในหลายสินค้า แต่ในภาพรวมการผลิตแร่หายากพบว่ามีหลายประเทศผลิตได้และส่งออกไปทดแทนจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้ ดังนั้น การที่จีนจะระงับส่งออก Rare earth ไปสหรัฐฯ จึงยังไม่เป็นเงื่อนไขหลักที่จะทำให้สหรัฐฯ จะรีบทำข้อตกลงการค้ากับจีน
การป้องกันปัญหาที่จะตามมาของสหรัฐฯ คือ การหาแหล่งนำเข้าแร่หายากจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากจีนและพันธมิตร ซึ่งสหรัฐฯ อาจเร่งเจรจากับประเทศอื่นๆ ที่มีกำลังการผลิตรองลงมา หรือทางหนึ่งสหรัฐฯ อาจต้องฟื้นฟูอุตสาหกรรมผลิตแร่หายากในประเทศที่ถูกปิดลงเนื่องจากกฎหมายที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม ในส่วนของจีนก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในผู้บริโภครายใหญ่ อย่างไรก็ตามจีนก็มีปัญหาในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในหลายด้าน
สำหรับไทย ในปี 2561 ไทยส่งออกรายการสินค้าในกลุ่มแร่หายากไปโลกมูลค่ารวม 54.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ไทยอาจมีโอกาสทดแทนจีนในสินค้าโลหะแรร์เอิร์ท สแคนเดียมและอิตเทรียม จะผสมระหว่างกันหรือระหว่างโลหะเจือของโลหะดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม (พิกัด 280530) และสารแร่ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่นๆ (พิกัด 253090) ซึ่งสองรายการดังกล่าว ไทยส่งออกไปโลกรวม 42.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนรวม 9.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นหากสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องหาแหล่งนำเข้าเพิ่มเติม ไทยอาจเป็นตัวเลือกหนึ่ง ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีและทำให้สหรัฐฯ ไม่เพ่งเล็งในการใช้มาตรการทางการค้ากับไทย
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ / สิงหาคม 2562