กระทรวงท่องเที่ยวฯ MOU กระทรวงแรงงาน-ผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาบุคลากรกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ Marine Tourism ยกระดับประสิทธิภาพการบริการและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.67 ที่ จ.ภูเก็ต นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน และนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism) ระหว่าง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว (กทท.) กับ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) บริษัท ภูเก็ต ซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด และ บริษัท โจโจ้ เอเชีย แปซิฟิค ซุปเปอร์ยอร์ช จำกัด

โดยมี นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, นายดิฐพงศ์ ฐิตะดิลก ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ภูเก็ตซุปเปอร์ยอร์ช มารีน่า จำกัด และนางสาวตัญญุตา สิงห์มณี กรรมการผู้จัดการ บริษัทโจโจ้ เอเชีย แปซิฟิค ซุปเปอร์ยอร์ช จำกัด เป็นผู้ลงนาม

นายพลภูมิ เปิดเผยว่า บันทึกความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญน้ำ (Marine Tourism) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism) ให้มีความพร้อมในการให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ กรมการท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism) เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งของโลกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วซึ่งถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวและการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีความรู้ ทักษะ และศักยภาพในการปฏิบัติงานและให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพในการให้บริการด้านการท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ซึ่งทั้ง 4 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism) ของประเทศไทย หากได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และเชื่อมโยงการดำเนินงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้ จะส่งผลให้การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ มีศักยภาพสามารถให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังเป็นการบูรณาการการทำงานโดยใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำที่มีคุณภาพของอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล โดยขอบเขตการดำเนินงานของกรมการท่องเที่ยว คือจะร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว/แรงงานในธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism) ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงาน,ร่วมศึกษาความต้องการ ทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ และร่วมกันจัดทำหรือพัฒนามาตรฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยว/แรงงานกลุ่มอาชีพคนบนเรือในธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism) ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนร่วมกันจัดทำหลักสูตรและจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว/แรงงาน ในธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism) รวมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว/แรงงานในธุรกิจการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Marine Tourism)