วันที่ 27 มิถุนายน 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (กทช.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 ที่มี ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภายหลังจากการประชุมแล้วเสร็จ รมว.ทส. เปิดเผยถึงภาพรวมของการประชุมดังกล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ นับเป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งที่สำคัญ ในรอบ 4 เดือน(กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2567)จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ 1.หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่พบหญ้าคาทะเล มีลักษณะใบขาดสั้น ราก เหง้าเน่าเปื่อย บางส่วนยืนต้นตาย โดยมีสาเหตุมาจากน้ำทะเลลดลงมากกว่าปกติถึง 30 – 40 ซม. รวมถึงการผึ่งแห้งนานขึ้นในขณะน้ำลงและการเปลี่ยนแปลงสภาพของตะกอน 2.สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่าเกิดการฟอกขาวแล้ว 86.6% โดยกรม ทช. ได้กำหนด 3 มาตรการ คือ ลดปัจจัยคุกคาม คือ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ทิ้งมลพิษ ไม่ให้อาหารปลา ไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง งด คือ ปิดแหล่งท่องเที่ยวสำหรับประกอบกิจกรรมดำน้ำตื้น และดำน้ำลึกในพื้นที่ที่เกิดการฟอกขาวอย่างรุนแรง และช่วย คือ ช่วยเหลือปะการังฟอกขาวโดยการบังแสงบางส่วนเหนือแนวปะการัง และพิจารณาย้ายปะการังบางส่วนลงไปในพื้นที่ที่เหมาะสมตลอดทั้งการปรับปรุงระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชน พ.ศ. 2567 โดยประเด็นสำคัญคือการเพิ่มมาตรฐานโครงการภาคสมัครใจด้านป่าไม้ มาตรฐานของ verra และ Gold standard รวมทั้งขยายระยะเวลาในการดำเนินงานให้มีความชัดเจน และเพิ่ม วิสหกิจ ชุมชน และสหกรณ์ ผู้ประกอบการเป็นผู้รับจ้างดูแลรักษาป่าชายเลน นอกจากนี้ กรม ทช. ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนและป่าชายหาดออกเป็น 4 โชน ได้แก่ โซนที่ 1 พื้นที่ป่าชายเลนที่สงวนเพื่อการรักษาระบบนิเวศเนื้อที่ 0.29 ล้านไร่ ประกอบด้วย พื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โชนที่ 2 พื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เนื้อที่ 2.60 ล้านไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พื้นที่ป่าชายเลนกันชน พื้นที่จัดการเพื่อใช้ประโยชน์ป่าชายเลน โซนที่ 3 พื้นที่ป่าชายเลนเอกชนเนื้อที่0.23 ล้านไร่เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดิน โดยมีแนวทางผลักดันนโยบายภาษีที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนที่มีเอกสารสิทธิ และสนับสนุนป่าชายเลนในพื้นที่เอกสารสิทธิของเอกชนในลักษณะเงินอุดหนุน เพื่อดำเนินการปลูกไม้ป่าชายเลนเศรษฐกิจ และ โซนที่ 4 พื้นที่ป่าชายหาดเนื้อที่ 0.04 ล้านไร่
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมอบให้กรม ทช. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ (ร่าง) รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ.2566ตามมาตรา 9 (7) แห่ง พ.ร.บ.ทช. 2558 กำหนดให้คณะกรรมการเสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยใช้หลักการวิเคราะห์ภาพรวมของผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระดับนานาชาติ (DPSIR) ซึ่งมีสาระสำคัญในด้านระบบนิเวศทางทะเล จากการเปรียบเทียบข้อมูลสถานภาพ ปี 2565 พบแนวปะการังจำนวน 149,182 ไร่ มีสถานภาพดีขึ้นเล็กน้อย หญ้าทะเล จำนวน 102,578ไร่ มีแนวโน้มลดลงสัตว์ทะเลหายากมีสถานภาพดีขึ้น พื้นที่ป่าชายเลน คงสภาพ 1.73 ล้านไร่ คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ขยะทะเลคิดเป็น 30,000 ตัน/ปี และปริมาณขยะลอยน้ำ พบ 5665 ตัน มีแนวโน้มลดลงจากปี 2565 ส่วนน้ำมันรั่วไหลและก้อนน้ำมันดิน จำนวน 28 ครั้ง น้ำทะเลเปลี่ยนสี จำนวน 72 ครั้ง ในปีนี้พบมากขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเหลือเพียงระยะทาง 76.42 กิโลเมตร โดยร่างดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2566 และให้เสนอต่อ กทช. เพื่อโปรดพิจารณาต่อไป
ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดแนวเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามมาตรา 22 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่หมู่เกาะสีชัง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และพื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ห้ามทำให้เกิดมลพิษ เททิ้งขยะห้ามทิ้งสมอเรือ ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆบริเวณแนวปะการัง ห้ามนำและใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นอันตรายต่อปะการัง ห้ามการขุด การถมทะเล หรือการขุดลอกร่องน้ำ การเดินเรือกำหนดให้มีความเร็วไม่เกิน 8 นอต และห้ามเก็บหรือขนย้ายเปลือกหอยทุกประเภทบนเกาะหอขาวอย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้กรม ทช. และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและ กทช. เป็นการเร่งด่วน พร้อมกำชับให้ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดรวมถึงส่งเสริมการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ผสานการมีส่วนร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และภาคเอกชน ให้หันมาใส่ใจและร่วมกันปกป้อง คุ้มครองพื้นที่ทางทะเลให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป “พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวทิ้งท้าย”