NSM มุ่งส่งเสริมสร้างอาชีพด้านการผลิตของเล่นวิทย์ฯ จัดโครงการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นต้นแบบเพื่อศตวรรษที่ 21 ด้วยของเล่นกลไก รอบชิงชนะเลิศ

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เผยผลโครงการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นต้นแบบเพื่อศตวรรษที่ 21 ด้วยของเล่นกลไก (2024 Innovative Science Toys Competition : Automata Toys) รอบชิงชนะเลิศ ผลปรากฏว่า ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ระดับเยาวชน ได้แก่ นางสาวชมมณี พระศรี และนางสาวณัฐจรีย์ ธูสรานนท์ กับ ผลงาน “Rolling Marble” และ ระดับบุคคลทั่วไป ได้แก่ นายหิรัญ คุณประโยชน์ ในผลงาน “Gravity Zoone” พร้อมส่งเสริมนักออกแบบ ผู้ผลิตของเล่นวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนารูปแบบของเล่นวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์และหลากหลายในอนาคต

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของเล่นวิทยาศาสตร์สู่ศตวรรษที่ 21 นับเป็นสิ่งสําคัญในการส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้และศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่ทําให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจุดประกายให้เกิดความสงสัย ตั้งคําถาม และนําไปสู่การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อค้นหาคําตอบจนเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้อันนําไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามนโยบาย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้ความสำคัญในการผลักดันศักยภาพของเยาวชนและประชาชนทุกช่วงวัย ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สนุกสนาน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต โดย NSM กำหนดจัด “โครงการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นต้นแบบเพื่อศตวรรษที่ 21 ด้วยของเล่นกลไก” ขึ้น หวังจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านของเล่นให้เกิดขึ้น เพื่อหวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบ ผู้ผลิตของเล่น รวมถึงผู้ที่สนใจได้แสดงแนวคิดในการพัฒนาทักษะด้านการประดิษฐ์ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาของเล่นวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่นำไปสู่การประกอบอาชีพได้ในอนาคต”

ดร.พีรนุช กัณหดิลก ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ NSM เผยว่า “โครงการแข่งขันฯ นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบและผู้ผลิตของเล่นได้แสดงแนวคิดในการออกแบบและผลิตของเล่น Automata Toys หรือ Machine Toys ซึ่งจะเน้นให้ผู้เล่นได้พัฒนาทักษะการประดิษฐ์และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ของเล่นด้วยกลไกอย่างง่ายและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่มีประสิทธิภาพและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิดในการนำรูปแบบของเล่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์รอบตัวผ่านหัวข้อ แรงและการเคลื่อนที่ (Force and Motion) โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานในระดับเยาวชนรวม 82 ผลงาน และผ่านรอบคัดเลือก 10 ผลงาน และระดับบุคคลทั่วไปรวม 34 ผลงาน และผ่านรอบคัดเลือกทั้งหมด 8 ผลงาน”

สำหรับผลการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นต้นแบบเพื่อศตวรรษที่ 21 ด้วยของเล่นกลไก (2024 Innovative Science Toys Competition : Automata Toys) รอบชิงชนะเลิศ มีดังนี้

ประเภทระดับเยาวชน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน “Holz Bagger” โดย นายอชิตะ พนาเชวง และนางสาวอุสิชา ปาณะดิษ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน “3 2 1 ready!?…go!!!” โดย นางสาวต้นน้ำ ตรีปัญจศิล

และ รางวัลขวัญใจกรรมการ ได้แก่ ผลงาน “มานะต้านลม” โดย นางสาวกัญญาพัชญ์ โชติรัตน์ภากรณ์ นางสาวพริมรดา ธนาคีรี และ นางสาววิมลพัฒน์ ตันติพงศ์

ประเภทระดับบุคคลทั่วไป

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน “The Bees” โดย นางสาวกานต์ธิดา ป้อมสกุล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน “Sniffing Dog” โดย นางสาวเจตวิภา บรุณเวช

และ รางวัลขวัญใจกรรมการ ได้แก่ ผลงาน “สาวน้อยตกน้ำป๋อมแป๋ม” โดยนางสาวสุชนา ทองปลอด

ผศ.ดร.รวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน หวังว่ากิจกรรมการแข่งขันฯ ครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันในการส่งเสริมและสร้างนักออกแบบและผู้ผลิตของเล่นวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบของเล่นวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์และหลากหลายยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป”