สารคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องใน “วันต่อต้านการทรมานสากล” 26 มิถุนายน ประจำปี 2567

การกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหนึ่งในรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่และทุกเวลา อันเป็นเหตุสำคัญของการบาดเจ็บร้ายแรงและเสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัว รวมทั้งการถูกบังคับให้สูญหายเพื่อขจัดร่องรอยของการกระทำความผิด

นับตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และล่าสุดรัฐบาลไทยได้ยื่นสัตยาบันสาร เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Disappearance: ICCPED) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการถูกกระทำทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏว่ายังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่ เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย การใช้ความรุนแรงในขณะตรวจค้นและควบคุมตัว การข่มขู่ให้รับสารภาพ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างไม่เหมาะสม การกักตัวผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการที่ไม่สามารถสืบสวนหาข้อเท็จจริงของผู้ที่สูญหายได้ในหลายกรณี

เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน ประจำปี 2567 นี้ กสม. จึงขอเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องให้ประเทศไทยเร่งเข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – OPCAT) เพื่อให้มีกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism – NPM) ที่สามารถตรวจสอบและเข้าถึงสถานที่ควบคุมตัวในเขตอำนาจของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอิสระ และสม่ำเสมอ นอกจากนี้ กสม. ขอสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยขอให้เร่งรัดการออกอนุบัญญัติที่สำคัญตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เช่น ระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้มีการประกาศใช้อนุบัญญัติ เพียงฉบับเดียว คือ ระเบียบว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม การแจ้งการควบคุมตัว และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าจะไม่มีใครถูกกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุกคนต้องได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรมจากการกระทำดังกล่าว อันเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายของประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยได้ให้การรับรอง