กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยผลพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า/พอต ของเยาวชนไทย พบ สูบร้อยละ 18.60 ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และพบความเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สามารถเลิกบุหรี่มวนได้ และนิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทย และสังคมโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า/พอต ของเยาวชนไทย จำนวน 40,164 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 – 27 พฤษภาคม 2567 โดยกองสุขศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร พบว่า เยาวชนไทยอายุระหว่าง 6-30 ปีมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 18.60 เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า เพศชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด ร้อยละ 21.49 รองลงมา LGBTQ+ ร้อยละ 19.73 และเพศหญิง ร้อยละ 16.22 เมื่อสอบถามเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเยาวชน พบว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า คือ เข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สามารถเลิกบุหรี่มวนได้ ร้อยละ 61.23เข้าใจว่านิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย ร้อยละ 51.19 เข้าใจว่าน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน ร้อยละ 26.28 เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ร้อยละ 23.28 และเข้าใจว่าควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย ร้อยละ 12.53 นอกจากนี้เยาวชนยังมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้า/พอต อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ร้อยละ 50.2 อีกด้วย
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเยาวชน ยังขาดความรู้ และความตระหนักถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและยังมีความเชื่อที่ผิด เพราะในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเสพติดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่งผลเสียต่อระบบหายใจ ระบบหลอดเลือดสมอง ระบบประสาทและสมองและอื่นๆ กรม สบส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่เด็กและเยาวชน จึงได้ส่งเสริมให้ ยุว อสม.ทำหน้าที่เป็นพลังในการสื่อสารให้เด็กและเยาวชน มีความตระหนักรู้ เตือนภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยใช้แนวทางการปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติแห่งชาติ ข้อที่ 5 งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสารเสพติด เพื่อป้องกันเยาวชนให้ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้า และลดการเกิดนักสูบหน้าใหม่ อันจะนำไปสู่ยาเสพติดชนิดร้ายที่เพิ่มขึ้น