Key Highlights
- มูลค่าส่งออกเดือน พ.ค. เติบโต 2%YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเติบโตเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ 6.8% จากปัจจัยชั่วคราวตามการส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนไปจีนที่ขยายตัวราว 220%เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง สำหรับการนำเข้ากลับมาหดตัว 1.7%YoY ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน พ.ค. กลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ที่ระดับ 656.1 ล้านดอลลาร์ฯ
- Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กลับมารุนแรงขึ้น โดยการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนทำให้มีการเร่งส่งออกสินค้าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์เริ่มขาดแคลนซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า สะท้อนจากค่าระวางเรือล่าสุดที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. ราว 90%
มูลค่าส่งออกเดือนพฤษภาคม 2567 ขยายตัว 7.2%
มูลค่าส่งออกเดือน พ.ค. อยู่ที่ 26,219.5 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 7.2%YoY เป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่พลิกกลับมาขยายตัวเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน สำหรับการส่งออกทองคำกลับมาขยายตัว 135.4%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 5.9% ทั้งนี้การส่งออก 5 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.6%YoY
ด้านการส่งออกรายสินค้าสำคัญบางส่วนขยายตัว
- การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 4.6%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 9.2%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+44.4%) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+110.7%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+12.4%) และทองแดงและของทำด้วยทองแดง (+33.9%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (-8.8%) แผงวงจรไฟฟ้า (-11.9%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-14.1%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-27.6%) เป็นต้น
- การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 19.4%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 2.0%YoY ตามการกลับมาขยายตัวของสินค้าเกษตรที่ 36.5%YoY และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัว 0.8%YoY สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (+128.0%) ยางพารา (+6%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+39.2%) ไก่แปรรูป (+10.2%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+95.7%) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+8.8) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว (-4.5%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-0.6%) น้ำตาลทราย (-46.1%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-16.2%) เป็นต้น
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญบางส่วนขยายตัว
- สหรัฐฯ : ขยายตัว 9.1%YoY เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางยานพาหนะ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 5 เดือนแรก ขยายตัว 12.5%)
- จีน : กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือนที่ 31.2%YoY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง ยางพารา และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 5 เดือนแรกขยายตัว 1.5%)
- ญี่ปุ่น : หดตัวที่ -1.0%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 5 เดือนแรกหดตัว -6.5%)
- EU27 : กลับมาหดตัว -5.4%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น (ส่งออก 5 เดือนแรกขยายตัว 3.8%)
- ASEAN-5 : กลับมาหดตัว -0.6%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และข้าว เป็นต้น (ส่งออก 5 เดือนแรกหดตัว -2.7%)
มูลค่าการนำเข้าเดือน พ.ค. อยู่ที่ 25,563.3 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 1.7%YoY เทียบจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 8.3%YoY จากการนำเข้าสินค้าทุน (-7.5%YoY) ที่กลับมาหดตัว และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-27.7%YoY) หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+2.4%YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (+2.1%YoY) และสินค้าเชื้อเพลิง (+1.5%YoY) ขยายตัว ทั้งนี้ ดุลการค้าเดือน พ.ค. กลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ 656.1 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนดุลการค้า 5 เดือนแรกของปีขาดดุล 5,460.7 ล้านดอลลาร์ฯ
Implication:
- การส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. เติบโต 7.2%YoY ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ 6.8%YoY โดยมีแรงหนุนจากการส่งออกผลไม้ที่เติบโต 128%YoY ตามการส่งออกทุเรียนไปจีนซึ่งขยายตัวราว 220% เนื่องจากปีนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าปีก่อนจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนกว่าปกติ ประกอบกับการส่งออกทองคำที่กลับมาขยายตัวดีทำให้โดยรวมการส่งออกเดือน พ.ค. ขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีสัญญาณที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากหมวดคอมพิวเตอร์ และหมวดโทรศัพท์ที่ขยายตัวดีตามการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
- จับตาการส่งออกในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่กลับมารุนแรงขึ้น โดยการขึ้นภาษีของสหรัฐฯต่อสินค้าจีนที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 2567 ทำให้มีการเร่งส่งออกสินค้าจีนไปยังตลาดสหรัฐฯมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า สะท้อนจากค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต (Drewry World Container Index) ล่าสุดวันที่ 20 มิ.ย. ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ 5,117 ดอลลาร์ต่อตู้ จากเดือน เม.ย. ที่ระดับ 2,706 ดอลลาร์ต่อตู้ หรือขยายตัวราว 90% ซ้ำเติมค่าระวางเรือที่ปรับสูงมาก่อนหน้านี้จากปัญหาวิกฤตทะเลแดง นอกจากนี้ภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าโดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่น สะท้อนจากดัชนี Flash Manufacturing PMI ที่ยังอ่อนแอ