วันที่ 21 มิถุนายน 2567 การประชุมนานาชาติ “IMCAS Asia 2024 17th Edition and 12th ITCAM” มีพิธีเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ซูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมในพิธี ครั้งนี้นับได้ว่าประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นปีที่ 6 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2567 โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมมากกว่า 3,000 คน
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฝากคำกล่าวถึงผู้จัดงานในวันนี้ว่าต้องขออภัยที่ไม่สามารถมาร่วมในพิธีเปิดงาน IMCAS Asia 2024 เนื่องจากป่วยเป็นโควิด-19 พร้อมกับฝากบอกทุกคนว่า “ผมมีความตั้งใจและยินดีสนับสนุนการจัดงาน IMCAS Asia 2024 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งความสำคัญของงานนี้ คือการรวมตัวของบุคลากรระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์พลาสติก เวชศาสตร์ความงาม และฟื้นฟูความเสื่อมจากทั่วโลก รวมถึงนักวิชาการและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์จากทั่วโลกกว่า 3,000 คน สอดรับวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand ด้านศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) ของรัฐบาล ทั้งยังเป็นนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทยอย่างมหาศาล เพราะบุคลากรกลุ่มนี้นอกจากจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ตลอดถึงผู้ประกอบการด้านความงามแล้ว ยังเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีศักยภาพทางการเงินสูง ซึ่งประเทศไทยมุ่งหวังจะให้มาร่วมปักหมุดในประเทศไทย การประชุม IMCAS Asia 2024 จึงเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีด้านสุขภาพและความงาม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานทุกท่านที่มีส่วนในการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเรา” ประโยชน์หลักของ IMCAS Asia 2024
1. ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง ผู้เข้าร่วมงาน IMCAS Asia จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการแพทย์และความงาม รวมถึงผู้บริหารองค์กรและนักลงทุน ซึ่งมักจะมีศักยภาพทางการเงินสูง มีการเดินทางพร้อมผู้ติดตาม การเข้าร่วมงานนี้จะมีทั้งผู้ที่เดินทางมาก่อนล่วงหน้าและผู้ที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังเมืองอื่นๆ ภายหลังจบงาน จึงคาดหวังได้ว่าจะเกิดกระแสการใช้จ่ายในด้านที่พัก อาหาร การขนส่ง และองคาพยพต่างๆ ของภาคการท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ส่งผลทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
2. ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในระดับโลก การเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติเช่นนี้ ช่วยให้ประเทศไทยได้รับการประชาสัมพันธ์ในสื่อระดับโลก เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนหน้าใหม่ในอนาคตเพิ่มขึ้น
3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ งานนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) ของประเทศไทย ช่วยเน้นย้ำถึงบริการทางการแพทย์และความงามที่ก้าวหน้า ผู้เข้าร่วมงานสามารถใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย เช่น การทำศัลยกรรมความงาม การรักษาโรคเฉพาะทาง และการพักฟื้นในรีสอร์ตสุขภาพ ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีอัตราการใช้จ่ายสูงต่อคน ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
4. พัฒนาเครือข่ายธุรกิจ ผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศจะมีโอกาสพบปะและสร้างเครือข่ายธุรกิจกับผู้ประกอบการในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในอนาคต เช่น การลงทุนในคลินิกความงามและศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจประเทศไทยในระยะยาว