THAICID จัดงาน สัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024 เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ

คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย หรือ THAICID จัดแถลงข่าว การจัดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024 เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการประจำปี 2567  (The THAICID Network Week for Integrated Knowledge Sharing 2024; THAICID-NWIKS 2024) ระหว่างวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม 2567  ณ สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

นายสาธิต มณีผาย ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสถาบันพัฒนาการชลประทาน และ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการ THAICID เปิดเผยว่า คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ร่วมกับ กรมชลประทาน สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน กำหนดจัดงาน THAICID-NWIKS 2024  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการในหัวข้อหลักสำคัญคือ “การเสริมสร้างระบบชลประทานแบบ SMART และมีส่วนร่วมเพื่อรองรับกระแสความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ (The Promotion of Smart and Participatory Irrigation Management for Coping with Global Uncertainty and Extreme Climate Variability)” ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงานในปี 2566 ที่ผ่านมา นำมาซึ่งองค์ความรู้และแนวทางการขับเคลื่อนงานชลประทานและการระบายน้ำ สามารถเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสม สร้างความเข้มแข็งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำไปสู่การปรับตัวให้เท่าทันกระแสความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ หมายรวมถึงสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน  โดยในปีนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการตลอดทั้ง 3 วัน ประกอบด้วย

การประชุมวิชาการระดับชาติ 17th THAICID National Symposium 2024 จัดโดยคณะทำงานด้านวิชาการ THAICID นำเสนอแนวการเสริมสร้างระบบชลประทานแบบ SMART และมีส่วนร่วมเพื่อรองรับกระแสความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ จากวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เจาะลึก 3 ประเด็นหลักที่น่าสนใจ ได้แก่ การขับเคลื่อนการชลประทานแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลในการจัดการด้านอุปสงค์น้ำอย่างยั่งยืน ช่วยลดภาระภาครัฐ (Movement of PIM seriously to increase efficiency and effectiveness of water demand side management and reducing government intervention) นวัตกรรมสรรค์สร้างระบบชลประทานแบบสมรรถนะสูง ลดการใช้พลังงานและภาระการบริหารจัดการโดยบุคลากร (Innovations of high-performance irrigation system to reduce energy use and personnel in water management) และการปรับตัวเพื่อรองรับภาวะอากาศแปรปรวนรุนแรงโดยใช้ทุนธรรมชาติ (Adaptation to cope with extreme climate viability using Natural Capital-Based Approach)

การเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ AWD Field Talk (Chapter5) เรื่องเล่าจากแปลงนา “ไปต่อ… นาเปียกสลับแห้ง เพิ่มรายได้ ลดโลกร้อน” โดย สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศนาข้าว (INWEPF-Thailand) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการเสวนาวิชาการ Chapter 4 ในปีที่ผ่านมา เพื่อย้ำให้เห็นประโยชน์ของการปล่อยให้นาแห้ง 1 ครั้งได้ประโยชน์ 6 อย่าง นำมาสู่การขยายพื้นที่การทำนาเปียกสลับแห้งและขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าวอย่างเป็นรูปธรรม

การอบรมเชิงปฏิบัติการ ดงตาล Software Days ภายใต้หัวข้อ“Digital Transformation for Adaptation on Climate change” จัดโดย สถาบันพัฒนาการชลประทาน ร่วมกับ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา นำผลงานการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระบบควบคุม ระบบตรวจวัด IoT นวัตกรรมในการเพิ่มความแม่นยำในการบริหารจัดการน้ำ จากวิทยากรที่มีประสบการณ์การใช้งานโดยตรง มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนจาก “ผู้ใช้” สู่ “ผู้พัฒนา” เทคโนโลยีและนวัตกรรม

การแสดงผลงานวิชาการ นำเสนอสิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรกลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากกรมชลประทาน เครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน เพื่อให้ผู้เข้าชมเกิดความคิดสร้างสรรค์และนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปใช้ได้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตลาดเกษตรกรนำผลผลิตจากเกษตรกรมาจำหน่ายภายในงานอีกด้วย

“ทั้งนี้สัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 2567 (THAICID-NWIKS 2024) กำลังทำหน้าที่เป็น Platform เชื่อมพลังเครือข่ายคลังสมองทางการชลประทานและการระบายน้ำตั้งแต่ระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติบนพื้นฐานของหลักวิชาการโดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม เป็นกลไกแก้โจทย์ท้าทายของประเทศให้ไปสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนงานชลประทานและการระบายน้ำแบบ SMART และมีส่วนร่วมเพื่อรองรับกระแสความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ” ประธานคณะทำงานด้านวิชาการ THAICID กล่าวในที่สุด

จึงขอเชิญชวน องค์กรเครือข่าย สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และเอกชน ตลอดจนผู้ที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมภายในงาน ได้ที่สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี หรือรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซต์ thaicid.rid.go.th/2024 ในระหว่างวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม 2567