พม. เข้าร่วมประชุม ISM ในโอกาสการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 22

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (สมาพันธรัฐสวิส) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุม Intersession Meetings (ISM) และเตรียมการประชุม Fifth-Review Conference of Anti-Personel Mine Ban Convention ในโอกาสการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 22 ณ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยนาย Ly Thuch รัฐมนตรีอาวุโสและรองประธาน Cambodian Mine Action and Victim Assistance Authority ในฐานะประธานการประชุมทบทวนอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 5 เป็นประธาน

โดยในการประชุม ISM ครั้งนี้ อธิบดี พก. ในฐานะผู้แทนไทย ได้กล่าวถึง ความก้าวหน้าของประเทศไทยในการดำเนินการตามพันธกรณีสำคัญตามอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลมากว่า 20 ปี โดยกระทรวง พม. พก. เป็นหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาศักยภาพและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) หน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ในการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญา โดยเฉพาะการอนุวัติพันธกรณีด้านให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลผ่านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการทำงาน 3 มิติ 1) ส่งเสริมคนพิการที่เป็นต้นแบบหรือผู้นำองค์กรที่มีความเข้มแข็ง โดยต่อยอดเป็นเครือข่ายการทำงานของภาครัฐและมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดมาตรการให้คนพิการได้รับสิทธิตามกฎหมายหรือการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง 2) พัฒนาศักยภาพคนพิการที่มีศักยภาพในการพัฒนา เพื่อยกระดับและผลักดันทดแทนภาวะการขาดแคลนแรงงาน และเด็กเกิดใหม่ที่ลดต่ำลง โดยการสร้างอาชีพและรายได้ ผ่านการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) และสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ สามารถต่อยอดสู่อาชีพ และ 3) การคุ้มครอง – สงเคราะห์ อย่างครบมิติ ในกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยการส่งเสริมการถึงสิทธิ สวัสดิการ ที่เหมาะสม

ปัจจุบัน มีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและประสบภัยจากทุ่นระเบิด ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พบว่า คนพิการที่เป็นผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดมากกว่าร้อยละ 90 เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย รองลงมามีความพิการทางการเห็นทางการได้ยินและสื่อความหมาย

ทั้งนี้ พก. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นระบบ แบ่งเป็นระยะสั้น คือ ให้การช่วยเหลือให้คนพิการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ โดยเร่งค้นหาผู้ประสบภัยที่เป็นคนพิการและมีแนวโน้มจะพิการและขึ้นทะเบียนคนพิการ โดยร่วมกับ สพฉ. ระยะกลาง คือ การดูแล คุ้มครองและพัฒนาตามศักยภาพของคนพิการ และระยะยาว คือ การสร้างงานสร้างอาชีพให้คนพิการสามารถดูแลตนเอง และครอบครัว รวมถึงมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เสริมสร้างเจตคติของสังคมที่มีต่อคนพิการและความพิการ ส่งผลให้คนพิการสามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างเท่าเทียม

โดย พก. ยังคงมีความมุ่งมั่นดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมของไทยที่มีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงต่อไป