กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ปี 2567 เสริมความรู้ทางวิชาการเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “รางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์” ให้กับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้มีผลงานการวิจัยด้านไวรัสวิทยาในระดับชาติและนานาชาติ
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี พ.ศ. 2567 “Shaping The Future of Public Health 2030” พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “รางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์” ให้กับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ผู้มีผลงานการวิจัยด้านไวรัสวิทยาเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะการป้องกันโรคด้วยวัคซีน และมอบโล่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ การป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพโดยกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ จำนวน 18 รางวัล โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร บุคลากรสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 1,800 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 193 ประเทศ ที่ได้เข้าร่วมลงนามในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ให้บรรลุผลภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งประกอบด้วย 17 เป้าหมาย 5 มิติ โดยประเด็นด้านสุขภาพภายใต้การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ เกี่ยวข้องในมิติสังคมเป้าหมายที่ 3 คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health And Well-Being) ครอบคลุมเรื่องการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีถ้วนหน้าในทุกช่วงวัย โดยมีเป้าประสงค์จะยุติการแพร่กระจายโรคติดต่อสำคัญ อาทิ เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย ตับอักเสบ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ รวมถึงลดการป่วยและการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนน รวมทั้งสารเคมีอันตรายและมลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลทางวิชาการ องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อนำไปปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมาย SDGs ต่อไป
ด้าน นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพในปัจจุบัน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ และปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขจึงสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรค เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย โดยการจัดประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพครั้งนี้ ดำเนินการทั้งรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ มีการบรรยาย/อภิปราย จำนวน 18 หัวข้อ พร้อมการฝึกปฏิบัติหลักสูตร Prototype testing Workshop รวมทั้งการประกวดผลงานวิชาการ จำนวน 130 เรื่อง จัดแสดงนิทรรศการและแสดงบูธผลงานเด่น จำนวน 35 บูธ