วันที่ 25 ส.ค. 62 เวลา 14.00 น. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 และเจ้าหน้ากรมชลประทานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง พร้อมรายงานความเป็นมาของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประมาณ 2,000 คน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่วาง ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ทางคณะฯ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจจุดที่จะใช้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ในพื้นที่บ้านใหม่ปางเติม ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์ 3 อำเภอ ประมาณ 18,000 ไร่
สำหรับพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง เดิมในช่วงฤดูแล้งน้ำในลำน้ำแม่วางและลำห้วยสาขามีปริมาณน้ำไหลค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรขาดแคลนน้ำ ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย แต่ในทางตรงกันข้ามในช่วงฤดูฝนน้ำในลำน้ำแม่วางกับมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก จึงทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรสองฝั่งลำน้ำแม่วางได้รับความเสียหาย และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายธงชัย วงศ์เหรียญทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้เสนอเรื่องก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่วางต่อสำนักงานชลประทานที่ 1 ซึ่งได้มีการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาโครงการเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549
โดยพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วางตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ขาน-แม่วาง จำนวน 1,129 ไร่ ซึ่งจะต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามมติ ครม. เกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม 26 เมษายน 2554 มีแผนดำเนินการในปี 2563 ซึ่งตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 และเสร็จในปี 2566 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 520 ล้านบาท
เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับน้ำฝนเหนืออ่างเก็บน้ำ 420 ตร.กม ฝนเฉลี่ยทั้งปี 634 มม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย 209.93 ล้าน ลบ.ม./ปี จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 18,000 ไร่ ฤดูแล้ง 8,000 ไร่ ถือเป็นแหล่งน้ำช่วยเหลือสนับสนุนการเพาะปลูกในเขตพื้นที่การเกษตรของราษฎรบริเวณสองฝั่งลำน้ำแม่วางและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในการอุปโภค-บริโภค พร้อมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ สร้างอาชีพใหม่ทางการประมง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของราษฎรในท้องถิ่นอีกด้วย