วันที่ 11 – 12 มิถุนายน 2567 ภายใต้ข้อสั่งการของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้พันตำรวจตรี สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม ASEAN Consultation on Best Practices and Challenges in Implementing Non Punishments Principle in the Anti-Trafficking in Persons (TIP) Laws, Policies and Practices (การประชุมอาเซียนว่าด้วยแนวทางปฏิบัติที่ดีและความท้าทายในการนำหลักการไม่ลงโทษมาปรับใช้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนแนวนโยบายและแนวปฏิบัติ) ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามคำเชิญ ของสำนักงานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights หรือ AICHR) โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการประชุม คือ การส่งเสริมให้มีเวที ในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติในการดำเนินการตามหลักการไม่ลงโทษในบริบทของการค้ามนุษย์สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในรัฐภาคีอาเซียน และการส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินการตามหลักการไม่ลงโทษในกรณีการค้ามนุษย์ โดยประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐภาคีและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน จำนวนกว่า 20 ประเทศ/หน่วยงาน
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย โดยโครงการอาเซียน – ออสเตรเลีย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (ASEAN–Australia Counter Trafficking หรือ ASEAN-ACT) เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมการประชุมฯ ในโอกาสดังกล่าวนี้ ที่ประชุมยังได้ให้เกียรติเรียนเชิญ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ บรรยายพิเศษให้แก่ที่ประชุมในฐานะตัวแทนประเทศไทย ในหัวข้อ Protecting victims of trafficking from punishment: Challenges in identifying trafficking victims during rescues and investigations หรือ “การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จากการถูกลงโทษ : ความท้าทายในการระบุตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในระหว่างการช่วยเหลือและการสืบสวนสอบสวน” ซึ่งเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการนำหลักการไม่ลงโทษมาปรับใช้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งกองคดีการค้ามนุษย์ ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานมาโดยตลอด ส่งผลให้เป็นภาพลักษณ์และภาพจำที่ดีของกองคดีการค้ามนุษย์ในเวทีหรือเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ