การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดพิธีเปิดโครงการ กปภ.ปลูกป่าเพื่อแผ่นดิน เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (Father’s Land) ประจำปี ๒๕๖7เพื่อเพิ่มปริมาณต้นไม้ในป่าชุมชนและสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ ณ บ้านป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ในวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567
นายจักรพงศ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยกปภ. ได้น้อมนำและสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ผ่านการดำเนินโครงการ กปภ. ปลูกป่าเพื่อแผ่นดินเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (Father’s Land) มาอย่างต่อเนื่องสำหรับปี 2567 กปภ. จัดพิธีเปิดโครงการกปภ. ปลูกป่าเพื่อแผ่นดินฯ ภายใต้หลักการตอบแทนคุณระบบนิเวศ (PES) ณ บ้านป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยภารกิจในปีนี้ นอกจากการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มปริมาณต้นไม้ในป่าชุมชนแล้ว ยังได้ร่วมกันสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ ด้วยกิจกรรมวางโก๋นผึ้ง เพื่อเพิ่มจำนวนผึ้งและชันโรงในการผลิตน้ำผึ้งป่า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนในชุมชน ตลอดจนการสร้างฝายน้ำล้นเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าในการกักเก็บน้ำให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์และดูแลรักษาป่าร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง กปภ. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO พ่อหลวงบ้านป่าสักงามและชาวชุมชนตำบลลวงเหนือ เทศบาลตำบลลวงเหนือ หน่วยป้องกันและรักษาป่าดอยสะเก็ด ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น นอกจากนี้ กปภ. 234 สาขาทั่วประเทศ จะดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่โดยรอบสำนักงาน สถานีผลิตน้ำ โรงกรองน้ำ และในพื้นที่ชุมชนรอบรั้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลกและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการร่วมกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนดินได้มีน้ำ ผืนป่าได้มีต้นไม้และการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพตลอดจนขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนบ้านป่าสักงามที่ได้ร่วมเป็นพลังสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน